ภายในช่องปากของเรา มีตะกอนแข็งที่เรียกว่า “หินปูน” สะสมอยู่บนผิวฟัน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคราบแบคทีเรียที่ไม่ได้รับการกำจัดออก เมื่อปล่อยไว้คราบเหล่านี้ก็จะสะสมตัว นานวันเข้าก็จะแข็งตัวกลายเป็นหินปูน ยึดติดกับผิวฟันอย่างแน่นหนา จนไม่สามารถขจัดออกได้ด้วยการแปรงฟันตามปกติ
หินปูนเป็นอันตรายต่อสุขภาพช่องปาก เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย ก่อให้เกิดการอักเสบของเหงือก เนื้อเยื่อรอบๆ ฟันถูกทำลาย นำไปสู่โรคปริทันต์ ฟันโยก และอาจสูญเสียฟันไปในที่สุด นอกจากนี้ หินปูนยังเป็นสาเหตุหลักของกลิ่นปากอีกด้วย
หินปูนคืออะไร คราบหินปูนบนฟันเกิดจากอะไร
หินปูนในช่องปาก (Dental calculus) คือ คราบแข็งสีเหลือง สีน้ำตาลหรือสีดำ ที่สะสมบนฟัน เกิดจากการสะสมของแบคทีเรีย เศษอาหาร น้ำลาย และแร่ธาตุในช่องปาก โดยแบคทีเรียในช่องปากจะย่อยสลายเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน เกิดเป็นคราบฟิล์มเหนียวๆ บนผิวฟัน เรียกว่า คราบพลัค (Dental plaque)
หากคราบพลัคนี้ไม่ได้รับการกำจัด จะค่อยๆ สะสมหนาขึ้นและแข็งตัวกลายเป็นหินปูน ซึ่งหินปูนสามารถเกาะได้ทั้งบนผิวฟันเหนือร่องเหงือกและใต้ร่องเหงือก
หินปูนเป็นสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพช่องปากหลายประการ เช่น
- ฟันผุ: เกิดจากกรดที่ผลิตโดยแบคทีเรียในหินปูนจะกัดกร่อนชั้นเคลือบฟัน ทำให้เกิดฟันผุ
- โรคเหงือกอักเสบ: หินปูนกระตุ้นให้เหงือกเกิดการอักเสบ บวมแดง และเลือดออกง่าย
- โรคปริทันต์: หินปูนใต้ร่องเหงือกเป็นสาเหตุของโรคปริทันต์ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียฟัน
- กลิ่นปาก: หินปูนเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดหินปูน
แปรงฟันไม่สะอาด
แปรงฟันไม่สะอาด แปรงผิดวิธี แปรงผิดตำแหน่ง ทำให้มีคราบจุลินทรีย์หรือเศษอาหารตกค้างบนฟัน เมื่อคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารเหล่านี้หมักหมมขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเอาออกยากขึ้นจนสุดท้ายต้องไปขูดหินปูนเพื่อเอาออก
พันธุกรรม
ลักษณะทางพันธุกรรมก็ส่งผลให้บางคนเกิดคราบหินปูนได้ง่ายกว่าคนอื่น แม้ว่าการสะสมหินปูนจะขึ้นกับการดูแลความสะอาดเป็นหลัก แต่ก็พบว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน เนื่องจากส่วนประกอบของน้ำลายหรือเคมีอื่นๆ ในช่องปากอาจจะเอื้อต่อการตกตะกอนของคราบพลัคจนกลายเป็นหินปูนได้ง่าย
อายุ
อายุที่มากขึ้นมีส่วนทำให้เกิดการสะสมของหินปูนมากขึ้น ผู้สูงอายุมักพบคราบหินปูนใต้เหงือกมากกว่าเมื่อเทียบกับคนอายุน้อย งานวิจัยพบว่ากลุ่มที่มีการเกิดหินปูนอย่างรวดเร็วมีอายุเฉลี่ยประมาณ 49.9 ปี ขณะที่กลุ่มที่เกิดช้ากว่ามีอายุเฉลี่ยประมาณ 40.5 ปี สาเหตุหนึ่งอาจมาจากประสิทธิภาพการทำความสะอาดฟันที่ลดลงตามอายุ เช่น การแปรงฟันอาจไม่ทั่วถึงเพราะความคล่องตัวลดลง เป็นต้น
โรคประจำตัว
โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน สามารถเพิ่มการสะสมของหินปูนได้ เพราะเบาหวานส่งผลต่อสุขภาพเหงือกและฟัน หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี มักจะมีหินปูนเกาะฟันมากกว่าคนทั่วไป สาเหตุเพราะน้ำตาลในเลือดสูง ภูมิคุ้มกันเปลี่ยนไปจนไปกระตุ้นการเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้เกิดหินปูนและโรคเหงือกง่ายขึ้น
ยาที่ทำให้ปากแห้ง
มียาหลายชนิดที่ทำให้ปากแห้ง และภาวะน้ำลายน้อยนี้จะลดการชะล้างแบคทีเรียและเพิ่มโอกาสเกิดหินปูนได้ ตัวอย่างยาที่พบบ่อยว่าทำให้ปากแห้ง ได้แก่ ยาแก้แพ้ (เช่น antihistamines), ยาต้านซึมเศร้า, ยาควบคุมความดันโลหิต, ยารักษาโรคพาร์กินสัน, ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้เวียนศีรษะคลื่นไส้บางชนิด เป็นต้น หากใช้ยาชนิดนี้อยู่ควรจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันการสะสมของคราบหินปูน
ควรไปขูดหินปูนเมื่อไหร่
โดยทั่วไปควรไปรับการขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน แต่หากไม่มีเวลาให้ลองสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
- มีคราบหินปูนที่เห็นได้ชัด จะเห็นเป็นคราบสีน้ำตาล เหลือง หรือดำบนฟันตามแนวที่ติดกับเหงือก
- เหงือกบวมแดง เลือดออกง่ายเวลาแปรงฟันหรือเวลาใช้ไหมขัดฟัน
- มีกลิ่นปาก
- รู้สึกว่าฟันขยับหรือหลวมๆ เพราะหินปูนทำให้โครงสร้างรอบฟันเสียหาย
- เหงือกร่น เพราะหินปูนทำให้เหงือกถอยลงจากฟัน ทำให้ฟันดูยาวขึ้น
- รู้สึกเสียวฟัน
ถ้ามีอาการข้างต้น ถือว่าเป็นสัญญาณให้รีบไปรับการขูดหินปูนจากทันตแพทย์
กำจัดหินปูนในปากด้วยตนเอง
ในกรณีที่มีหินปูนเกาะบนฟันอยู่แล้ว และไม่ใช่กรณีป้องกันแต่เป็นกำจัดหินปูน ไม่แนะนำให้ทำเองเพราะหินปูนเป็นคราบแข็งที่เกาะแน่นบนผิวฟัน จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางโดยทันตแพทย์ ไม่ควรหาซื้อเครื่องมือมาทำเองเพราะอาจทำให้บาดเจ็บ เป็นแผล รวมถึงอาจทำให้ติดเชื้อได้
วิธีลดการเกิดคราบหินปูนด้วยตัวเอง
หากต้องการลดการเกิดคราบหินปูน (ไม่ใช่การกำจัด การกำจัดทำโดยการขูดหินปูนเท่านั้น) สามารถทำได้ดังนี้
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง โดยใช้เวลาอย่างน้อยสองนาทีในแต่ละครั้ง ใช้แปรงฟันที่มีขนาดเหมาะสมและมีขนนุ่ม เพื่อไม่ให้ทำร้ายเหงือกและเคลือบฟัน
- ใช้ไหมขัดฟันเพื่อลดการสะสมของคราบพลัคและคราบหินปูนระหว่างฟัน ซึ่งเป็นส่วนที่แปรงสีฟันไม่อาจเข้าถึงได้
- ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารฟลูออไรด์หรือสารต้านแบคทีเรียเพื่อช่วยลดการเกิดคราบพลัคและหินปูน
- ลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะน้ำตาลเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดคราบพลัคและคราบหินปูน การลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงสามารถช่วยลดการสะสมของคราบเหล่านี้ได้
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม เช่น กาแฟ, ชา, และไวน์แดง, เพราะอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้สามารถทำให้เกิดคราบบนฟันได้ง่าย
- ดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำช่วยล้างเศษอาหารและแบคทีเรียออกจากช่องปาก และช่วยเพิ่มการผลิตน้ำลาย ซึ่งน้ำลายช่วยป้องกันการเกิดคราบหินปูน
- เลิกสูบบุหรี่และการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพราะการสูบบุหรี่และการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหินปูนและโรคเหงือก
- ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือนหรือตามคำแนะนำ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและทำความสะอาดฟัน หากเจอปัญหาทันตแพทย์จะได้สามารถตรวจเจอและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคราบหินปูนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ไม่มีวิธีขจัดหินปูนตามธรรมชาติได้ มีแค่ลดการเกิดหินปูนเท่านั้น ดังวีดีโอด้านล่างนี้:
ขั้นตอนการขูดหินปูน
- ทันตแพทย์ตรวจสภาพในช่องปาก ดูตำแหน่งของหินปูนและหาโรคเหงือกต่างๆ
- ใช้เครื่องมือขูดหินปูน ขูดเอาคราบหินปูนออกจากบริเวณคอฟัน ใกล้ขอบเหงือกและตามซอกฟัน ระยะเวลาที่ใช้ในการขูดหินปูนขึ้นอยู่กับว่ามีหินปูนมากขนาดไหน
- ขัดฟัน เมื่อขูดหินปูนเสร็จแล้วทันตแพทย์จะใช้แปรงไฟฟ้าในการขัดผิวฟันให้เรียบ
- ใช้ไหมขัดฟัน ทันตแพทย์จะใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดระหว่างซอกฟัน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจมีเลือดออกตามไรฟันเล็กน้อยหากมีอาการเหงือกอักเสบ
- บ้วนปากล้างเอาคราบหินปูนและผงขัดฟันออก
- เคลือบฟลูออไรด์เพื่อให้เคลือบฟันแข็งแรง
คำแนะนำหลังการขูดหินปูน
- หลังขูดหินปูนอาจมีเลือดซึมออกมาตามเหงือกเล็กน้อย เลือดจะหยุดไหลเองภายใน 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรบ้วนหรือถุยน้ำลายทิ้งบ่อยๆ เพราะจะทำให้เลือดไม่หยุดไหล
- หลังขูดหินปูน 1-2 วันแรกให้หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่สีเข้ม รสจัดเพราะสีจะติดบนฟันง่ายกว่าปกติ รวมถึงควรงดสูบบุหรี่ด้วย
- หากมีอาการเสียวฟัน สามารถใช้ยาสีฟันสำหรับลดอาการเสียวฟันได้ หากอาการไม่หายไปภายใน 1 อาทิตย์ หรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น เหงือกเป็นหนอง ให้กลับไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม
- สามารถแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันตามปกติได้เลยตั้งแต่วันแรกหลังขูดหินปูนเสร็จ แต่ให้แปรงเบาๆ บริเวณขอบเหงือกเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำบ่อยๆ
คำแนะนำในการป้องกันหินปูน
วิธีป้องกันหินปูนสำหรับเด็ก
- หลีกเลี่ยงอาหาร-เครื่องดื่มหวานจัด เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรียซึ่งจะทำให้เกิดคราบพลัคและหินปูนง่ายขึ้น
- เมื่อฟันน้ำนมเริ่มขึ้น ให้หมั่นทำความสะอาดให้เด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารหรือดื่มนมเสร็จ หากเป็นทารกให้ใช้ผ้าก๊อซสะอาดชุบน้ำต้มสุกแล้วเช็ดเบาๆ บนเหงือกและฟันของเด็กทุกวัน
- แปรงฟันให้เด็กวันละ 2 ครั้ง ดัวยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ โดยบีบให้ขนาดยาสีฟันประมาณเม็ดถั่วเขียว อย่าใส่ยาสีฟันเยอะเกินไปเพราะจะทำให้ฟันเด็กตกกระตอนโตได้
- พาไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เด็กๆ ไม่ถึง 1 ปีก็สามารถไปพบได้เลย การพบหมอฟันตั้งแต่เล็กจะช่วยติดตามพัฒนาการฟันเด็ก แก้ไขปัญหาเล็กน้อยได้ก่อนจะลุกลาม และทำให้เด็กคุ้นเคยไม่กลัวการทำฟัน
วิธีป้องกันหินปูนสำหรับผู้สูงอายุ
- แปรงฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำเนื่องจากคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูนสามารถสะสมบนฟันผู้สูงอายุได้รวดเร็วกว่าคนหนุ่มสาว หากมือสั่นหรือเคลื่อนไหวไม่ถนัดแนะนำให้ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าหรือให้ผู้ดูแลช่วยทำความสะอาดฟันให้
- ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ บีบยาสีฟันให้เต็มแปรง เพื่อให้ฟลูออไรด์กลับมาเคลือบชั้นผิวฟัน ในวัยผู้ใหญ่ไม่ต้องกลัวฟันตกกระเหมือนวัยเด็ก สามารถบีบยาสีฟันเต็มแปรงได้ หากมีปัญหาปากแห้งน้ำลายน้อยยิ่งควรใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นประจำเพื่อป้องกันฟันผุและหินปูน
- ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน โดยแจ้งโรคประจำตัวหรือยาที่ทานให้ครบ ทันตแพทย์จะได้ให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง
- งดสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้คราบหินปูนก่อตัวง่ายขึ้น ลดอาหารที่มีน้ำตาลสูง
- ดูแลฟันปลอมให้ดี หากเป็นฟันปลอมแบบถอดออกได้ ให้แปรงฟันปลอมทุกวันด้วยแปรงขนนุ่มและน้ำสบู่ (ไม่ใช่ยาสีฟัน) ไม่ใส่ฟันปลอมขณะนอนหลับเพราะฟันปลอมอาจไปกดเหงือกจนเป็นแผลได้ รวมถึงป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์บนฟันปลอมด้วย
วิธีป้องกันหินปูนสำหรับผู้ที่จัดฟัน
- คนจัดฟันจะพบว่ามีคราบหินปูนเกาะง่ายขึ้นเนื่องจากเครื่องมือจัดฟันที่ติดอยู่บนฟันทำให้ทำความสะอาดได้ยาก จึงมีคำแนะนำสำหรับวิธีป้องกันหินปูนสำหรับคนกำลังจัดฟันดังนี้
- แปรงฟันให้ทั่วถึงทุกซี่ ใช้แปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันที่ขนแปรงเป็นรูปตัววี หรือแปรงสีฟันไฟฟ้า
- ใช้ไหมขัดฟัน superfloss ที่ออกแบบมาเพื่อคนกำลังจัดฟันโดยเฉพาะ
- ใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพื่อช่วยลดแบคทีเรียและคราบพลัคที่สะสมอยู่รอบๆ เครื่องมือจัดฟัน
หินปูนใต้เหงือกสีดำ คืออะไร
หินปูนใต้เหงือกสีดำอาจเกิดจากการสะสมของหินปูนหรือคราบหินปูนที่มีสีเข้มหรือสีดำ ซึ่งเป็นผลมาจากแบคทีเรีย, เศษอาหาร, และสารอื่นๆ ที่เกาะตัวกันและกับผิวฟันหรือตามขอบเหงือก
คราบหินปูนมีหลายสี เช่น สีเหลือง, น้ำตาล, และสีดำ สีของหินปูนสามารถแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค, การสูบบุหรี่, และการดื่มเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม เช่น กาแฟ, ชา, หรือไวน์แดง รวมถึงเหงือกอาจเลือดออก และระยะเวลาที่คราบหินปูนอยู่บนฟัน
หินปูนใต้เหงือกสีดำอาจเป็นการสะสมหินปูนระยะยาวที่ไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ซึ่งการสะสมของหินปูนมากๆ สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากที่ร้ายแรงได้ เช่น โรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ หรือแม้กระทั่งการสูญเสียฟันได้
มีหินปูนใช้น้ำยาบ้วนปากอะไรดี
มีโฆษณาน้ำยาบ้วนปากบางยี่ห้อบอกว่าสามารถกำจัดหินปูนออกได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง น้ำยาบ้วนปากไม่สามารถกำจัดหินปูนได้ ทำได้แค่ลดการเกิดหินปูนเท่านั้น
ควรเลือกน้ำยาบ้วนปากที่ช่วยลดการสะสมของคราบพลัคและแบคทีเรียดังนี้
น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ Chlorhexidine gluconate ต้องปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ เพราะอาจมีอาการแพ้ได้
- ช่วยฆ่าแบคทีเรียและลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์
- เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาหินปูนสะสมมาก
น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์:
- ฟลูออไรด์ช่วยเสริมสร้างเคลือบฟัน
- ช่วยป้องกันการเกิดฟันผุ
วิธีใช้
- กลั้วน้ำยาบ้วนปากประมาณ 30 วินาที หลังแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน เช้าและก่อนนอน
- ไม่ควรกลืนน้ำยาบ้วนปาก
- ควรเลือกน้ำยาบ้วนปากที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล