แบร็คเก็ตจัดฟัน (Bracket) คือ อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้ติดบนผิวหน้าของฟัน มีหน้าที่หลักในการรับแรงจากลวดจัดฟันเพื่อให้ฟันเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ส่วนใหญ่ทำจากโลหะหรือเซรามิก
แบร็คเก็ตจะมีช่องตรงกลางสำหรับใส่ลวดจัดฟันและมีขอบที่ออกแบบมาสำหรับใช้ยางโอริงรัดลวดจัดฟันเพื่อให้ลวดจัดฟันสามารถติดอยู่กับแบร็คเก็ตได้
หลักการทำงานของแบร็คเก็ตเกิดขึ้นผ่านการรับและถ่ายทอดแรงจากลวดจัดฟันไปยังฟัน โดยมียางโอริงรัดลวดจัดฟันเข้ากับแบร็คเก็ตเพื่อช่วยรักษาแรงให้คงที่และสม่ำเสมอ
แบร็คเก็ตจัดฟัน มีกี่แบบ
แบร็คเก็ตจัดฟันที่พบบ่อยมีอยู่ 5 แบบด้วยกัน แต่ละแบบมีลักษณะและการใช้งานที่ต่างกันดังนี้
- แบร็คเก็ตโลหะ (Metal Brackets) – เป็นแบบที่พบได้บ่อยที่สุด ทำจากสแตนเลสหรือโลหะผสมนิกเกิล-ไททาเนียม มีความแข็งแรงและทนทาน แต่จะมองเห็นได้ชัดเจน ใช้กับการจัดฟันโลหะ
- แบร็คเก็ตเซรามิก (Ceramic Brackets) – ทำจากวัสดุเซรามิก มีสีคล้ายฟันจึงดูเป็นธรรมชาติมากกว่า มีความแข็งแรงน้อยกว่าโลหะ แต่แข็งแรงกว่าแบร็คเก็ตพลาสติก และอาจแตกหักได้ง่าย ใช้กับการจัดฟันเซรามิก
- แบร็คเก็ตพลาสติก (Plastic Brackets) – เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการให้เห็นเครื่องมือจัดฟันชัดเจน สึกกร่อนง่าย มักมีความหนากว่าชนิดโลหะ แต่มีผิวเรียบลื่นกว่า
- แบร็คเก็ตติดด้านหลังฟัน (Lignual Brackets) – เป็นแบร็คเก็ตที่ติดด้านหลังฟัน ทำให้มองไม่เห็นว่ากำลังจัดฟันอยู่ แต่ทำความสะอาดยากกว่า
- Self-Ligating Brackets – มีทั้งทำจากโลหะและเซรามิกใส ตัวร่องสำหรับใส่ลวดจัดฟันจะแตกต่างกับแบร็คเก็ตจัดฟันทั่วไปตรงที่มีบานพับเปิดปิดได้ ทำให้ไม่ต้องใช้ยางรัดฟัน (O-ring) จึงจัดฟันเสร็จเร็วกว่าแบบทั่วไป แต่มีราคาแพงกว่าแบร็คเก็ตแบบโลหะ มีอีกชื่อว่าการจัดฟันดามอน
แบร็คเก็ตมีกี่ขนาด
ขนาดของแบร็คเก็ตจัดฟันขึ้นอยู่กับชนิดและผู้ผลิตแต่ละเจ้า โดยทั่วไปมักมีขนาดดังตารางนี้
แบร็คเก็ตจัดฟัน | กว้าง (mm) | สูง (mm) |
จัดฟันโลหะ | 3.5-4.5 | 2.5-3.5 |
จัดฟันเซรามิก | 3-4 | 2.5-3.5 |
จัดฟันดามอน | 3-4 | 2-3.5 |
หากกลัวว่าจะเห็นแบร็คเก็ตชัดแนะนำว่าให้เลือกใช้แบร็คเก็ตที่มีสีเหมือนฟันหรือแบบเซรามิก
แต่หากอยากให้เห็นสีสันสดใสของยางโอริง ก็สามารถเลือกสียางจัดฟันได้ตามต้องการเลยครับ
คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับแบร็คเก็ต
แบร็คเก็ตขูดปากทำยังไงดี
แบร็คเก็ตขูดปากเป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ใส่แบร็คเก็ตเพื่อการจัดฟัน โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ หลังจากการติดตั้งแบร็คเก็ต ปัญหานี้เกิดจากการที่แบร็คเก็ต เสียดสีหรือขูดกับเนื้อเยื่อในปาก เช่น แก้ม, ริมฝีปาก, หรือลิ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย เป็นแผลเล็กๆ หรือแม้แต่การอักเสบ
วิธีป้องกันแบร็คเก็ตขูดปากมีดังนี้
- ใช้แว็กซ์จัดฟันที่ทันตแพทย์ให้มา ป้ายตรงแบร็คเก็ตที่ขูดปาก เพื่อลดการเสียดสี
- หลีกเลี่ยงการกัดอาหารหรือสิ่งของแข็งๆ ที่อาจทำให้แบร็คเก็ตเคลื่อนตัวหรือเสียหายได้
- บางครั้งอาจจำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อปรับแบร็คเก็ตหรือลวดให้พอดีกับฟันและปากมากขึ้น เพื่อลดการเสียดสีในปาก
แบร็คเก็ตหลุดทำยังไงดี
หากคนไข้พบว่าแบร็คเก็ตหลุดออกจากฟัน ให้ทาขี้ผึ้งที่บริเวณเครื่องมือจัดฟันเพื่อป้องกันการทิ่มแทงในช่องปาก จากนั้นให้มาพบทันตแพทย์เพื่อติดแบร็คเก็ตกลับเข้าที่ การปล่อยให้แบร็คเก็ตหลุดแล้วทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานจะทำให้การจัดฟันใช้เวลานานขึ้น
หากแบร็คเก็ตหลุดแล้วเผลอกลืนลงไป ก็ไม่ต้องกังวลเพราะร่างกายจะขับถ่ายออกมาเอง
วิธีป้องกันแบร็คเก็ตหลุด ให้ทำดังนี้
- อย่าเคี้ยวของที่แข็งหรือเหนียวมากๆ เช่น น้ำแข็ง ถั่ว ขนมกรอบๆ หมากฝรั่ง
- อย่าเอาลิ้นไปดุนเล่น
- อย่าแปรงฟันแรงมากเกินไป
- ใช้ไม้จิ้มฟันอย่างระมัดระวัง
แบร็คเก็ตหลุด เสียเงินไหม
หากแบร็คเก็ตหลุด สามารถเข้ามาติดได้ที่ MOS dental ได้เลย มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ซี่ละ 200-400 บาท แต่หากมีโปรโมชั่นทางคลินิกจะติดให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถสอบถามก่อนได้
แบร็คเก็ตมีเสา คืออะไร
แบร็คเก็ตบางอันมีเสา เรียกว่า ฮุค (hook) เสานี้ใช้สำหรับเกี่ยวยางโอริง, ยางเชน, หรือเกี่ยวยางดึงฟันเพื่อช่วยในการเคลื่อนตัวของฟัน จำนวนแบร็คเก็ตที่มีเสาในแต่ละคนไข้ก็อาจจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการรักษาในแต่ละคน
แบร็คเก็ตแต้มสีไว้ทำอะไร
แบร็คเก็ตมีแต้มสีไว้เพื่อให้ทันตแพทย์ทราบว่าจะต้องใส่แบร็คเก็ตตัวนั้นที่ฟันซี่ไหน ฟันบนหรือฟันล่าง ฟันด้านซ้ายหรือขวา เพราะฟันทุกซี่จะมีแบร็คเก็ตเฉพาะ ใส่สลับกันไม่ได้ โดยจุดแต้มสีเหล่านี้จะอยู่ที่บริเวณชิดด้านในเหงือก เช่น แบร็คเก็ตของฟันบนขวา จะมีจุดแต้มสีที่มุมบนขวาสุด
หากคนไข้พบว่าจุดแต้มสีบนแบร็คเก็ตหายไป ก็ไม่ต้องกังวลเพราะไม่มีผลอะไรแล้ว เพราะใช้แค่ตอนก่อนติดเพื่อบอกว่าจะต้องติดที่ฟันซี่ไหน แต่ในเมื่อติดไปแล้ว สีที่แต้มไว้จะหลุดหายไปก็ไม่เป็นไรครับ