นอนกัดฟัน เกิดจากอะไร แก้ยังไง

นอนกัดฟัน (Bruxism) คือลักษณะอาการที่คนไข้มีการบดเคี้ยวของฟัน ในช่วงที่ไม่รู้สึกตัวหรือช่วงนอนหลับอยู่ โดยอาจกัดฟันในลักษณะเค้าหรือถูฟันไปมา

ภาวะนี้มักเกี่ยวข้องกับความเครียด ความวิตกกังวล หรือปัญหาทางด้านสุขภาพจิตอื่นๆ และสามารถนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เช่น การสึกหรอของฟัน ปวดขากรรไกร และปวดหัว ผู้ที่นอนกัดฟันอาจมีอาการปวดกราม ปวดที่ขากรรไกร และในบางกรณี อาการอาจรุนแรงพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อขากรรไกรและฟัน

นอกจากนี้ การนอนกัดฟันยังสามารถเชื่อมโยงกับภาวะสุขภาพอื่นๆ เช่น นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกัดฟันกับปัญหาการนอนหลับอื่นๆ ได้อีกด้วย

นอนกัดฟันเกิดจากอะไร สาเหตุนอนกัดฟัน

สาเหตุของการนอนกัดฟัน

สาเหตุที่แท้จริงของการนอนกัดฟันยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งทางกายภาพและจิตใจ ดังนี้:

  • ความเครียดและความวิตกกังวล: ความเครียดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนกัดฟันขณะนอนหลับ นอกจากนั้นความวิตกกังวล ความผิดหวัง ซึมเศร้า หรือความโกรธก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการกัดฟันได้เช่นกัน
  • การสบฟันไม่ถูกต้อง: เช่นการสบฟันที่ผิดปกติ ฟันซ้อน, ฟันเก, ขากรรไกรผิดรูป
  • วิถีชีวิต: การบริโภคสิ่งกระตุ้น เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้ยาบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการกัดฟัน
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม: บางครั้งการกัดฟันอาจมีแนวโน้มทางพันธุกรรม ถ้ามีคนในครอบครัวที่มีปัญหานี้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะนอนกัดฟันเช่นกัน
  • โรคประจำตัวอื่นๆ: เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (sleep apnea) โรคข้อต่อขากรรไกรอักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคพิษสุนัขบ้า

วิธีสังเกตตัวเองว่านอนกัดฟันหรือไม่

ส่วนมากแล้วมักทราบได้จากคนที่นอนข้างๆ ว่าเรานอนกัดฟันหรือไม่ แต่หากบางคนนอนกัดฟันแน่นไม่ได้ถูฟันไปมา ก็อาจจะสังเกตยาก ต้องใช้วิธีสังเกตตัวเองตอนตื่นนอน ดังนี้:

  • มีอาการปวดฟัน ปวดกราม ปวดศีรษะ ฟันสึก ฟันบิ่น รู้สึกอึดอัดเมื่อตื่นนอน
  • เจ็บ เมื่อยตรงกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าหรือขมับเมื่อตื่นนอนทันที
  • ฟันแตกหรือหักโดยไม่มีสาเหตุอื่นที่ชัดเจน
  • รู้สึกเหนื่อย หรือมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ

วิธีแก้การนอนกัดฟัน

ใส่เฝือกสบฟันเพื่อป้องกันการนอนกัดฟัน

เนื่องจากยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของการนอนกัดฟัน การรักษาจึงเป็นการรักษาตามต้นเหตุที่ตรวจพบ ดังนี้:

  • การใช้เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint): เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาหลักสำหรับการนอนกัดฟันคือการใช้เฝือกสบฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะทำขึ้นมาเพื่อให้พอดีกับฟันของผู้ป่วยโดยเฉพาะ เครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันการสึกหรอของฟัน และลดแรงกดบนกรามได้
  • การจัดการความเครียด: เนื่องจากความเครียดถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดการนอนกัดฟัน การหาวิธีลดความเครียดและความวิตกกังวลจึงเป็นสิ่งสำคัญ วิธีการอาจรวมถึงการออกกำลัง การทำสมาธิ การปรึกษาจิตแพทย์ หรือการใช้เทคนิคการผ่อนคลายอื่นๆ
  • การปรับปรุงนิสัยก่อนนอน: ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคสิ่งกระตุ้น เช่น คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ก่อนเวลานอน นอกจากนี้ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอนหลับที่ดี เช่น การลดแสงและเสียงรบกวน ก็สามารถช่วยได้
  • การฝึกกายภาพบำบัดและการนวด: การฝึกกายภาพบำบัดสำหรับบริเวณกรามและการนวดบริเวณใบหน้าและกรามสามารถช่วยลดความตึงเครียดบริเวณกรามและลดความเจ็บปวดได้
  • การรักษาด้วยการแก้ไขสภาพแวดล้อมในการนอนหลับ: การนอนกัดฟันอาจเชื่อมโยงกับปัญหาการนอนหลับบางประเภท เช่น อาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ (sleep apnea) การรักษาสภาพดังกล่าวอาจช่วยลดการนอนกัดฟัน
  • การใช้ยา: ในบางกรณี อาจมีการใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ รวมถึงยาระงับความเครียด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากล่อมประสาท หรือยากันชัก ที่อาจช่วยลดการกัดฟันในคนไข้บางราย

วิธีป้องกันการนอนกัดฟัน

  • คอยสอบถามคนที่นอนข้างๆ ว่าได้ยินเสียงกัดฟันหรือไม่ หากได้ยินควรรีบไปปรึกษาแพทย์
  • ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำเพื่อตรวจดูร่องรอยการกัดฟัน
  • พยายามเข้าใจความเครียดและหาวิธีคลายเครียดที่เหมาะสมกับตัวเอง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนนอน อย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง
  • สังเกตตัวเองตอนตื่นนอนเสมอว่ามีอาการเจ็บ ปวด ขากรรไกร หรือฟัน หรือไม่
  • พยายามทำสภาพแวดล้อมในการนอนให้ดี เช่น ลดแสงลง ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น
  • ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น ลองเกร็งกัดขากรรไกรแน่นๆ 10 วินาทีแล้วคลาย พยายามจำความรู้สึกตอนคลายนั้นไว้ ให้รู้ว่านี่คือลักษณะที่กล้ามเนื้อผ่อนคลาย แล้วสังเกตว่าเรามีอาการผ่อนคลายหรือเกร็งตอนตื่นนอน

 

คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการนอนกัดฟัน

นอนกัดฟัน หาหมออะไร

อาจต้องไปปรึกษาหมอในหลายสาขาเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ได้แก่:

  • ทันตแพทย์ (Dentist): เป็นคนแรกที่ควรไปพบเมื่อมีปัญหาการนอนกัดฟัน เพราะทันตแพทย์สามารถตรวจสอบอาการเสื่อมของฟันที่เกิดจากการกัดฟันและสามารถแนะนำหรือสร้างแผ่นกัดฟัน (night guard) เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเสียหายเพิ่มเติม
  • แพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ (Sleep Specialist): หากการนอนกัดฟันเกี่ยวข้องกับปัญหาการนอนหลับอื่นๆ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับเพิ่มเติม
  • แพทย์จิตเวชหรือนักจิตวิทยา (Psychiatrist/Psychologist): เนื่องจากความเครียดและความวิตกกังวลอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการนอนกัดฟัน การปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอาจช่วยลดปัญหานี้ด้วยการจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล
  • แพทย์เฉพาะทางด้านโรคข้อและกล้ามเนื้อ (Orthopedist or Physical Therapist): หากการกัดฟันทำให้เกิดปัญหากับข้อต่อขากรรไกรหรือมีอาการปวดกล้ามเนื้อ การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคข้อและกล้ามเนื้อหรือนักกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการได้

ทำไมจัดฟันแล้วนอนกัดฟัน

การจัดฟันมีการทำให้ฟันเคลื่อน และในระหว่างจัดฟันช่วงแรกจะมีความไม่เคยชินและเป็นไปได้ว่าจะกัดฟันมากขึ้น แต่เมื่อผ่าน 2-3 เดือนไปแล้วก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้าจะจัดฟัน

นอนกัดฟัน จัดฟันได้ไหม

นอนกัดฟัน สามารถจัดฟันได้ แต่เนื่องด้วยสภาพของคนที่มีการนอนกัดฟันจะทำให้มีการเจ็บ รู้สึกไม่สบายของขากรรไกรอยู่ก่อนแล้ว แล้วมีการจัดฟันเพิ่มเติม ก็อาจทำให้มีรู้สึกไม่สบายยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรแก้ไขอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยจัดฟัน นอกจากนั้นหากคนไข้มีปัญหาฟันสึกจากการนอนกัดฟัน พื้นที่ที่เหลือสำหรับติด Bracket ก็จะยิ่งน้อยลงและหลุดได้ง่ายขึ้น

บทความนี้ตรวจสอบโดย

ทพ. อดิศร หาญวรวงศ์

Adisorn Hanworawong

ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master in Implant Dentistry (gIDE/UCLA CA. USA.)
วท.ม. สาขาวิทยาการแพทย์ (วิศวกรรมเนื้อเยื่อ)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศนียบัตร อบรมหลักสูตรจัดฟัน Fellowship of Indian Academy of Orthodontics
Invisalign Cert., Invisalign provider

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้เหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์และใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเนื้อหา บริการ และการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับคุณ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกและจะถูกเก็บเป็นความลับ

บันทึกการตั้งค่า