จัดฟันเซรามิก (Ceramic Braces) คือ รูปแบบหนึ่งของการจัดฟันโดยวัสดุที่ใช้เป็นเซรามิก มีข้อดีคือ วัสดุมีสีเหมือนฟันทำให้มองไม่ค่อยเห็น และมีความทนทานดี วัสดุที่ติดบนผิวด้านหน้าของฟันจะเป็นเซรามิกใส สีเหมือนฟันเรียกว่า Bracket และใช้ยางรัดฟัน (O-ring) สีใสเพื่อยึดลวดโลหะที่ใช้สำหรับปรับทิศทางจัดฟันตามที่ทันตแพทย์ต้องการ
ส่วนประกอบของเครื่องมือจัดฟันแบบเซรามิก (Components of Ceramic Braces)
การจัดฟันเซรามิกจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ดังต่อไปนี้
แบร็คเก็ต (Bracket)
แบร็คเก็ต (Bracket) คือวัสดุที่ยึดติดแน่นกับผิวฟันของคนไข้ มีลักษณะเป็นสีใสเหมือนฟัน ทำหน้าที่ส่งผ่านแรงจากลวดมาสู่ฟัน เพื่อให้ฟันเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ อายุการใช้งานขึ้นกับการดูแลรักษา ไม่ควรเคี้ยวอาหารที่แข็งมากเพราะอาจทำให้ Bracket หลุด หาก Bracket หลุดจะทำให้ไม่มีแรงส่งผ่านไปที่ฟันซี่ที่ Bracket นั้นหลุดออก ซึ่งจะส่งผลให้ฟันซี่นั้นไม่ขยับไปตามตำแหน่งที่ต้องการ
ยางรัดฟัน (O-ring)
ยางรัดฟัน (O-ring) คือ วัสดุที่เป็นยางสำหรับยึดลวด (Archwire) มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การจัดฟันเซรามิกจะใช้ O-ring ที่เป็นยางสีใสเพื่อให้กลมกลืนกับสี Bracket และสีของฟัน ยางรัดฟันนี้ทำหน้าที่ในการยึดให้ลวดติดอยู่กับ Bracket เพื่อให้ลวดส่งผ่านแรงไปเคลื่อนฟันได้
เชนดึงฟัน (Orthodontic Chain)
เชนดึงฟัน (Orthodontic Chain) มีลักษณะคล้าย O-ring ต่อกันหลายๆ อัน คล้ายโซ่พลาสติก หน้าที่ของเชนดึงฟันคือช่วยร่นระยะห่างช่องระหว่างฟัน เชนดึงฟันที่ใช้ในการจัดฟันเซรามิกส่วนมากจะใช้เป็นสีใสเพื่อให้ยากต่อการมองเห็น
ลวดจัดฟัน (Archwire)
ลวดจัดฟันหรือ Archwire คือ เส้นลวดโลหะที่ทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนฟัน ลวดจัดฟันนี้ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะสอดเข้าไปอยู่ในแต่ละ Bracket ที่ติดอยู่บนฟัน และทำหน้าที่ดึงหรือผลักฟันไปยังตำแหน่งที่ต้องการตามแผนการรักษาจัดฟันของแต่ละบุคคล
ลวดจัดฟันมีหลากหลายประเภท ทั้งในด้านขนาด, รูปทรง, และวัสดุที่ใช้ ในกรณีจัดฟันเซรามิกมักพบ 2 แบบคือ ลวดแกนโลหะเคลือบสารสีเหมือนฟัน และลวดเซรามิกพอลิเมอร์คอมโพสิท
ข้อดี จัดฟันแบบเซรามิก (Ceramic Braces) (Pros and Cons of Ceramic Braces)
- เซรามิกมีสีที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับ Bracket แบบจัดฟันโลหะ ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการการจัดฟันที่คนอื่นสังเกตเห็นได้ยาก
- วัสดุเซรามิกมักจะมีความเรียบและโค้งมน ทำให้นุ่มนวลต่อเนื้อเยื่อในปากมากกว่า Bracket โลหะ ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้แพ้โลหะ
- มีเศษอาหารติดน้อยกว่าจัดฟันแบบโลหะ
- เซรามิกทนทานต่อการเปลี่ยนสี ไม่เหมือนกับเบร็กเก็ตพลาสติกหรือรักษาความสวยงามได้นาน.
ข้อเสีย จัดฟันแบบเซรามิก
- เซรามิกนั้นเปราะและมีโอกาสแตกหักง่ายกว่า Bracket โลหะ
- ราคาการจัดฟันแบบเซรามิกสูงกว่าการจัดฟันแบบโลหะ
- ใช้ระยะเวลาในการจัดฟันนานกว่า โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
การจัดฟันแบบเซรามิก เหมาะกับใคร?
การจัดฟันเซรามิกเหมาะกับผู้ที่ไม่อยากให้คนอื่นเห็นชัดว่าตนเองกำลังจัดฟัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และภาพลักษณ์ที่ดูดีกว่าการจัดฟันแบบโลหะ นอกจากนั้นยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่แพ้โลหะ และมีความซับซ้อนในการจัดฟันไม่สูงมาก
ขั้นตอนการจัดฟันแบบเซรามิก
ประเมินและวางแผนการรักษา
คนไข้เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบสภาพฟัน และกระดูกขากรรไกรของผู้ป่วย เพื่อประเมินว่าเหมาะสมกับการใช้ bracket เซรามิกหรือไม่ รวมถึงการพูดคุยเพื่อให้คนไข้ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด เพราะการจัดฟันนั้นใช้เวลานาน 2-3 ปี และในระหว่างนั้นจะต้องมาพบทันตแพทย์เพื่อปรับอุปกรณ์เสมอ จึงควรวางแผนแต่เนิ่นๆ ว่าจะมีการเดินทางมาพบทันตแพทย์ได้หรือไม่ (เช่นบางกรณีคนไข้อาจไปเรียนต่อต่างประเทศเป็นต้น)
X-ray และพิมพ์แบบจำลองฟัน
หากคนไข้ตกลงตัดสินใจจัดฟันก็จะมีการแจ้งแผนการรักษาคร่าวๆ อาจมีการพิมพ์แบบจำลองฟัน และ X-ray เพื่อตรวจเช็กสภาพฟัน ว่ามีฟันผุ ฟันคุด หรือไม่
เคลียร์ช่องปาก
ทันตแพทย์ทำการเคลียร์ช่องปากของคนไข้ให้เรียบร้อย เช่น การถอนฟัน ขูดหินปูน เพื่อให้เหมาะสมกับการติดตั้ง Bracket ที่จะใช้ในการจัดฟัน
ติดตั้งเครื่องมือจัดฟันแบบเซรามิก
ทันตแพทย์ทำความสะอาดผิวฟันอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าผิวฟันสะอาดและติดตั้ง Bracket ที่ผิวฟัน หลังจากนั้นใช้ลวดจัดฟันยึดเข้ากับ Bracket ด้วย O-ring
ติดตามผล
คนไข้จะต้องมาพบทันตแพทย์เป็นระยะเพื่อตรวจสอบและปรับลวดจัดฟัน การปรับนี้เป็นส่วนสำคัญของการรักษา เพื่อให้ฟันเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งที่ต้องการอย่างถูกต้อง
เมื่อจัดฟันเสร็จแล้ว
เมื่อฟันมีตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว ทันตแพทย์จะทำการถอดเบร็กเก็ตออกจากฟัน และทำความสะอาดพื้นผิวฟัน และมอบรีเทนเนอร์ให้กับคนไข้ เพื่อรักษาตำแหน่งของฟันไว้ให้คงสภาพไม่เคลื่อนกลับที่เดิม
จัดฟันเซรามิก ใช้ระยะเวลาในการจัดฟันเท่าไหร่
โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาในการจัดฟันเซรามิกอยู่ที่ 2-3 ปี อย่างไรก็ตามระยะเวลาอาจแตกต่างกันไปตามความซับซ้อนของคนไข้แต่ละคน เช่น ในกรณีที่มีความซับซ้อนน้อย ฟันเกเล็กน้อย ฟันยื่นเล็กน้อย ฟังห่างไม่มาก จะใช้เวลาน้อยกว่า แต่หากมีการสบฟันที่ผิดปกติ หรือมีความซับซ้อนสูงก็จะใช้เวลามากกว่า
การรักษาจะมีประสิทธิภาพเมื่อคนไข้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น การเข้าพบทันตแพทย์ตามกำหนด, การดูแลสุขอนามัยช่องปาก เป็นต้น
การดูแลช่องปากหลังการจัดฟันแบบเซรามิก
การดูแลช่องปากหลังการจัดฟันแบบเซรามิกเป็นส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพฟันและให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ขั้นตอนหลักๆ ในการดูแลช่องปากหลังจัดฟันเซรามิกมีดังนี้:
- มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อปรับอุปกรณ์และเปลี่ยน O-ring ให้เหมาะสมตามขั้นตอน ช่วงแรกที่จัดฟันอาจมีอาการปวดเล็กน้อย ถือเป็นเรื่องปกติ พอเวลาผ่านไป 2-3 วันร่างกายจะเริ่มปรับตัวได้และไม่ปวดตึง
- ทำความสะอาดฟันอย่างละเอียดหลังแต่ละมื้ออาหารและก่อนนอน ใช้แปรงสีฟันที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่จัดฟัน เพื่อช่วยในการทำความสะอาดรอบๆ บริเวณ bracket และลวดจัดฟัน
- ใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดระหว่างฟันและบริเวณใกล้เคียงกับ bracket เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียและเศษอาหาร
- ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียและป้องกันฟันผุ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งมากๆ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์จัดฟัน
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีและติดคราบฟันง่าย เช่น ชา กาแฟ ไวน์ เพราะจะทำให้เห็นเครื่องมือจัดฟันง่ายขึ้น
- หลังจากการจัดฟันเซรามิกเสร็จสิ้น ใช้รีเทนเนอร์ตามที่ทันตแพทย์แนะนำเพื่อรักษาตำแหน่งของฟันให้คงที่
ราคาจัดฟันเซรามิก
ราคาจัดฟันเซรามิก มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้
รายละเอียด | ราคา (บาท) | หมายเหตุ |
พิมพ์ปาก | 1000 | |
X-ray | 800 | |
อุดฟัน | ด้านละ 500 (ฟัน 1 ซี่มี 5 ด้าน) | เคลียร์ช่องปาก |
ถอนฟัน | เริ่มต้น 500 | เคลียร์ช่องปาก |
ขูดหินปูน | 900 | เคลียร์ช่องปาก |
ผ่าฟันคุด | 1500-3600 | เคลียร์ช่องปาก |
ติดเครื่องมือจัดฟันเซรามิก | 15000 x 2 (บน-ล่าง) | |
ชำระต่อจนจัดฟันเสร็จ | 2000 x 20 = 40000 | |
รีเทนเนอร์ | 2000 x 2 = 4000 |
หมายเหตุ กรุณาสอบถามราคากับทันตแพทย์อีกครั้ง
กรณีที่คนไข้ไม่ได้ทำรายการไหน ก็ไม่คิดค่าใช้จ่ายรายการนั้น เช่น ไม่ได้มีการขูดหินปูน หรือเป็นการจัดฟันบนอย่างเดียวเพราะฟันล่างสวยแล้ว ก็จะไม่คิดรายการขูดหินปูนและไม่คิดค่าเครื่องมือจัดฟันล่าง เป็นต้น