ครอบฟันคืออะไร มีกี่แบบ ราคาเท่าไหร่บ้าง

ครอบฟัน คือ อุปกรณ์ทางทันตกรรมที่สร้างขึ้นมาให้มีลักษณะเหมือนฟันจริง เพื่อครอบลงบนฟันที่ได้รับความเสียหาย เช่น ฟันแตก ฟันหัก ฟันสึก ฟันบิ่ม ฟันสั้น ฟันเหลือง ฟันรูปร่างไม่สมส่วน หรือมีรูปทรงไม่สวยงาม ให้สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนฟันตามธรรมชาติ

ครอบฟันมีกี่ชนิด ทำจากวัสดุอะไรบ้าง

ครอบฟันที่พบได้บ่อยมีอยู่ 5 ชนิด ทำจากวัสดุดังต่อไปนี้

ครอบฟันโลหะล้วน (Full Metal Crown)

ตัวอย่างครอบฟันโลหะล้วน

ครอบฟันโลหะล้วน เป็นครอบฟันที่ทำจากโลหะทั้งหมด วัสดุที่นิยมใช้ทำครอบฟันโลหะล้วน ได้แก่ ทอง ทองคำขาว พัลเลเดียม และนิกเกิล-โครเมียม ครอบฟันโลหะล้วนมีความแข็งแรงและทนทานมากที่สุด เมื่อเทียบกับครอบฟันชนิดอื่น ๆ ทำให้สามารถรองรับแรงบดเคี้ยวได้ดี นิยมใช้กับฟันกรามมากกว่าฟันหน้า เนื่องจากฟันกรามต้องรับแรงบดเคี้ยวมากกว่าฟันหน้า

ข้อดีของครอบฟันโลหะล้วนคือ มีความแข็งแรงทนทานมาก สามารถรองรับแรงบดเคี้ยวได้ดี ราคาไม่แพง แต่มีข้อเสีย คือ เห็นง่ายว่าเป็นโลหะ และต้องกรอเนื้อฟันออกมาก

ครอบฟันเซรามิกล้วน (All-ceramic crown: ACC)

ตัวอย่างครอบฟันเซรามิกล้วน

ครอบฟันเซรามิกล้วนทำจากวัสดุเซรามิกโดยไม่มีโลหะผสมอยู่ ทำให้มีสีและลักษณะที่คล้ายกับฟันจริงมาก ข้อดีคือ มีสีที่เข้ากับฟันจริงได้ดี ไม่มีเส้นโลหะที่เห็นได้ที่ขอบเหงือกจึงนิยมทำบริเวณฟันหน้า  ความแข็งแรงดี แต่ข้อเสียคือราคาสูงและอาจเปราะหักได้ง่ายกว่าประเภทอื่นในบางกรณี และการครอบฟันประเภทนี้ต้องกรอฟันออกมาก โครงสร้างของฟันจึงถูกกรอออกไปมากเช่นกัน จึงทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ และอักเสบง่ายกว่าครอบฟันประเภทอื่น

ครอบฟันเซรามิกล้วนยังสามารถแบ่งออกได้เป็น:

  1. ครอบฟันเซอร์โคเนีย (Zirconia Crowns) – เป็นครอบฟันที่ทำจากวัสดุเซรามิกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เซอร์โคเนีย (Zirconia) มีคุณสมบัติเด่นคือมีความแข็งแรงสูง ทนทานต่อการแตกหัก สามารถใช้ได้ทั้งฟันหน้าและฟันกราม เหมาะสำหรับฟันที่จำเป็นต้องรับแรงบดเคี้ยวมาก เช่น ฟันกรามหลัง ฟันที่ผุมากหรือแตกหัก ฟันที่จำเป็นต้องบูรณะหลังจากรักษารากฟัน นอกจากนั้นเซอร์โคเนียยังเป็นวัสดุที่ร่างกายยอมรับได้คนไข้จึงไม่ค่อยแพ้วัสดุนี้ ข้อด้อยคือ อาจมีความโปร่งแสงน้อยกว่าครอบฟันเซรามิกล้วนเล็กน้อย และมีราคาสูงกว่า
  2. ครอบฟันเซรามิกล้วนแบบแก้วเซรามิก (Glass Ceramic) – เป็นครอบฟันที่ทำจากวัสดุเซรามิกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แก้วเซรามิก (Glass Ceramic) มีคุณสมบัติเด่นคือมีความใสและสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด จึงนิยมใช้กับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม มีความแข็งแรงปานกลาง แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีเนื้อฟันน้อย ฟันสั้น หรือฟันสึกมาก เหมาะกับการทำครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ
  3. ครอบฟันไฮบริดเซรามิก (Hybrid Ceramic) – เป็นวัสดุทันตกรรมสมัยใหม่ที่ใช้สำหรับทำครอบฟัน โดยมีคุณสมบัติเด่นคือความแข็งแรง ความทนทาน และสามารถจำลองสีฟันธรรมชาติได้ดี วัสดุนี้ผสมผสานระหว่างเซรามิกและคอมโพสิทเพื่อให้ได้ทั้งความแข็งแรงและความยืดหยุ่น นิยมใช้ในการรักษาที่ต้องการความสวยงามและความทนทานปานกลาง เช่น การทำครอบฟันหน้าและฟันหลัง มีข้อดีคือเหมาะกับผู้มีเนื้อฟันน้อย นิยมใช้ในการทำครอบฟันภายในวันเดียว

ครอบฟันเซรามิกผสมโลหะ (PFM Crown, or Porcelain Fused to Metal)

เป็นครอบฟันที่มีฐานเป็นโลหะที่หุ้มด้วยเซรามิก เพื่อความแข็งแรงของโลหะและความสวยงามของเซรามิก อย่างไรก็ตามจุดด้อยคือ สามารถเห็นรอยดำตรงขอบเหงือกที่เป็นฐานโลหะได้ง่าย ปัจจุบันครอบฟันแบบ Zirconia สามารถทดแทนจุดอ่อนของครอบฟันแบบ PFM ได้ทั้งในแง่ความสวยงามและความทนทาน

ครอบฟันแบบเรซิน (Resin Crown)

ทำจากวัสดุเรซิน หรือพลาสติกที่มีการปรับปรุงทางเทคนิค เรซินมีความยืดหยุ่นและสามารถจำลองสีฟันธรรมชาติได้ดี ทำให้เป็นทางเลือกที่นิยมใช้สำหรับครอบฟันด้านหน้าเพื่อเพิ่มความสวยงาม มีราคาค่อนข้างถูก แต่ด้วยอายุการใช้งานที่สั้นและสึกหรอได้ง่ายกว่าวัสดุอื่นจึงนิยมใช้เป็นครอบฟันชั่วคราวเพื่อประเมินอาการและใช้ระหว่างที่รอครอบฟันถาวรจากแลปทันตกรรม

ครอบฟันเหล็กไร้สนิม (Stainless Steel Crowns: SSC)

ครอบฟันเหล็กไร้สนิม

ครอบฟันเหล็กไร้สนิม (Stainless Steel Crowns: SSC) เป็นครอบฟันที่ทำจากเหล็กไร้สนิม มีความแข็งแรงและทนทานสูง มักใช้ในการรักษาฟันของเด็กเพื่อป้องกันฟันที่มีโรคหรือถูกทำลายจากการผุ ครอบฟันชนิดนี้มักจะใช้แค่เพียงชั่วคราวในขณะที่รอฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ โดยครอบฟันชนิดนี้สามารถหลุดออกได้เองเมื่อฟันแท้งอกขึ้นมา

ครอบฟันเหล็กไร้สนิมมีความคงทนสูงและไม่จำเป็นต้องทำการกรอฟันธรรมชาติมากเท่าครอบฟันประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีราคาถูก สามารถติดตั้งได้รวดเร็ว ข้อเสียคือ สีไม่เป็นธรรมชาติ จึงมักใช้กับฟันกรามมากกว่า

ครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ (One-day Crown)

โดยปกติแล้วการทำครอบฟันจะต้องใช้เวลาหลายครั้งและต้องใส่ครอบฟันชั่วคราวเพื่อรอครอบฟันเสร็จนานหลายวัน ซึ่งอาจไม่สะดวกสำหรับผู้ป่วย แต่ด้วยเทคโนโลยีทางทันตกรรมในปัจจุบัน การทำครอบฟันสามารถทำได้ภายในวันเดียวแล้ว เรียกว่า “ครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ (One-day crown)” ซึ่งใช้หลักการดังนี้

  • ทันตแพทย์จะทำการ X-ray ฟันซี่ที่ต้องการทำครอบฟัน เพื่อประเมินสภาพฟันและวางแผนการรักษา
  • ทำการสแกนช่องปากด้วยกล้อง 3D เพื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดของฟันซี่ที่ต้องการทำครอบฟัน รวมถึงเหงือกรอบๆ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปประมวลผลในคอมพิวเตอร์
  • คอมพิวเตอร์จะออกแบบครอบฟันขึ้นมาโดยคำนึงถึงสภาพฟันและความต้องการของคนไข้
  • ครอบฟันจะถูกนำไปกลึงขึ้นรูปจากวัสดุที่เลือกไว้
  • ช่างแล็บจะทำการแต้มทำสีให้ครอบฟันมีสีที่คล้ายกับฟันจริงตามธรรมชาติ
  • ทันตแพทย์จะลองใส่ครอบฟันในช่องปากคนไข้ เพื่อดูความพอดีและความสวยงาม

ข้อดีของการทำครอบฟันแบบวันเดียวเสร็จ ได้แก่

  • ใช้เวลาในการรักษาน้อยคนไข้ไม่ต้องเดินทางไปมาหลายรอบ
  • ไม่ต้องใส่ครอบฟันชั่วคราว
  • ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ
  • คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ทันที

ขั้นตอนการทำครอบฟัน

  1. คนไข้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำความเข้าใจปัญหา บอกความต้องการทางทันตกรรมของคนไข้ ทำการตรวจ X-ray สภาพเหงือกและฟัน
  2. หากพบปัญหา เช่น ฟันผุหรือรากฟันอักเสบ จะต้องรักษารากฟัน เคลียร์ช่องปากให้เสร็จก่อนทำครอบฟัน
  3. วางแผนรักษา โดยทันตแพทย์อธิบายทางเลือกและกระบวนการต่างๆ คนไข้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกรูปแบบครอบฟัน
  4. เมื่อเลือกแบบครอบฟันได้แล้ว ทันตแพทย์จะทำการกรอฟัน ให้เป็นรูปร่างที่เหมาะสมสำหรับรอครอบฟัน
  5. ทันตแพทย์ทำการพิมพ์ปาก หรือใช้เทคโนโลยี CAD/CAM ในการ scan ฟัน ทำครอบฟันชั่วคราวให้คนไข้ใช้ระหว่างรอครอบฟันจริง
  6. ทันตแพทย์ส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่แลปทันตกรรมเพื่อผลิตครอบฟันจริง
  7. หลังจากนั้น 5-7 วัน ทันตแพทย์จะนัดมาประเมินความพอดีและคุณภาพของครอบฟัน และทำการปรับแต่งถ้าหากจำเป็น
  8. ทำการเช็คการสบฟันและความเรียบร้อยของครอบฟัน จากนั้นยึดครอบฟันที่กรอไว้เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
  9. ติดตามอาการและประเมินผล
  10. นัดติดตามเพื่อตรวจสอบอาการเสียวฟัน, การสบฟัน, การยึดครอบฟัน และอื่นๆ
  11. ทันตแพทย์จะประเมินผลความพึงพอใจและคุณภาพการรักษาหลังจากนั้น

กรอฟันจริงเพื่อรองรับครอบฟัน

การดูแลรักษาในระหว่าง และหลังการทำครอบฟัน

การดูแลรักษาครอบฟันระหว่างที่กำลังทำครอบฟันและหลังทำครอบฟันเสร็จแล้ว มีรายละเอียดดังนี้

การดูแลรักษาในระหว่างการรอครอบฟันจริง

ในระหว่างการรอครอบฟันจริง ทันตแพทย์อาจใส่ครอบฟันชั่วคราวให้คนไข้สวมใส่ ซึ่งครอบฟันชั่วคราวนี้ทำจากวัสดุที่อ่อนกว่าครอบฟันจริงและอาจหลุดง่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีเนื้อแข็งในด้านที่ใส่ครอบฟันชั่วคราว ครอบฟันชั่วคราวอาจแตกหรือหลุดได้หากเคี้ยวอาหารแข็งหรือเหนียว
  • งดการขบเคี้ยวหมากฝรั่ง หมากฝรั่งอาจทำให้ครอบฟันชั่วคราวหลุดได้
  • ในบางกรณี ทันตแพทย์อาจให้เลี่ยงการใช้ไหมขัดฟันชั่วคราว

การดูแลรักษาหลังการทำครอบฟัน

การดูแลรักษาหลังการทำครอบฟันเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ครอบฟันมีอายุการใช้งานยาวนานและมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไป การดูแลรักษาหลังการทำครอบฟันมีดังนี้

  • แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับการดูแลสุขภาพฟันและเหงือกทั่วไป เพื่อขจัดคราบพลัคและแบคทีเรียที่สะสมอยู่รอบๆ ครอบฟัน
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งหรือเหนียว เช่น ถั่วแข็ง น้ำแข็ง ถั่วลิสง เมล็ดพืชแข็ง หมากฝรั่ง กระดูก ขนมขบเคี้ยวแข็ง เพราะอาจทำให้ครอบฟันแตกหรือหลุดได้
  • พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน ทันตแพทย์จะตรวจสุขภาพช่องปากและฟันของคุณเป็นประจำ รวมถึงตรวจสอบครอบฟันของคุณเพื่อหาสัญญาณของความเสียหายหรือปัญหาอื่นๆ
  • ใช้ความระมัดระวังในการใช้ไหมขัดฟัน ไม่ให้ไปโดนขอบของครอบฟันบริเวณที่ติดกับเหงือก
  • หากมีอาการปวดมาก บวม หรือติดเชื้อให้รีบไปพบทันตแพทย์

ข้อดีของการทำครอบฟัน

  • ครอบฟันช่วยให้ฟันที่เสียหายหรืออ่อนแอ แตก หัก บิ่น ร้าว ขาดแคลเซียม หรือมีการผุ กลับมามีความแข็งแรง ป้องกันไม่ให้ฟันแตกหัก
  • ปรับปรุงรูปร่างและสีฟันตามที่ต้องการ ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการยิ้ม
  • มีอายุการใช้งานยาวนานหลายปี หากดูแลรักษาอย่างถูกต้อง บางครั้งอาจมากกว่า 10-15 ปี
  • ช่วยรักษาฟันที่รักษารากฟันแล้วให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ
  • ช่วยให้การสบฟันเป็นธรรมชาติ ปรับปรุงการบดเคี้ยว ลดปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ
  • ช่วยยึดสะพานฟันให้เข้าที่

ข้อเสียของการทำครอบฟัน

  • ต้องกรอเนื้อฟันซี่ที่ครอบออกบางส่วน ซึ่งอาจทำให้ฟันซี่นั้นเปราะบางลงได้
  • ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
  • อาจเกิดปัญหากับครอบฟันได้ เช่น ครอบฟันแตก หัก หลุด หรือล่อนออกหากใช้งานหนักเกินไป
  • หากเลือกวัสดุ Porcelain ไปนานๆ ตัวเหงือกอาจมีการร่นและเห็นรอยต่อระหว่างโลหะและ Porcelain เป็นสีทึบดำไม่สวยงาม

ทำครอบฟันเจ็บไหม

ก่อนที่ทันตแพทย์จะเริ่มกระบวนการกรอฟันเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับครอบฟัน พื้นที่ที่จะทำการรักษาจะถูกทายาชา (Local Anastasia) ฉีดยาชาเพื่อลดความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้ขณะที่ทำการกรอฟัน คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ โดยยาชานั้นจะออกฤทธิ์นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง ช่วยให้คนไข้สามารถรับการรักษาได้อย่างสบายโดยไม่รู้สึกเจ็บหรือเสียวฟัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการรักษาแล้ว อาจมีอาการปวดบริเวณเหงือกหรือฟันข้างเคียงเล็กน้อย ซึ่งสามารถรับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำได้

ครอบฟันมีอายุการใช้งานนานแค่ไหน

โดยทั่วไปครอบฟันมีอายุการใช้งานประมาณ 5-15 ปี แต่อาจมากหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำครอบฟัน การดูแลรักษา และพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ เช่น หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่แข็ง การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี การไปพบทันตแพทย์เป็นประจำและการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธีสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของครอบฟันได้

ครอบฟันราคาเท่าไหร่

รายการ ราคา (บาท)
ครอบฟันชั่วคราว ( Temporary Crown ) 5,000-8,000
ครอบฟัน/สะพานฟัน โลหะธรรมดา ( Full metal crown/bridge price/tooth ) 10,000-12,000
ครอบฟัน/สะพานฟัน สีเหมือนฟันฐานโลหะ( Porcelain fused to metal crown/bridge price/tooth ) 12,000-14,000
ครอบฟัน/สะพานฟัน ที่ใช้โลหะพาลาเดียม ( Paladium based crown/bridge price/tooth ) 14,000-16,000
ครอบฟัน/สะพานฟัน ที่ใช้โลหะทอง ( Gold based crown/bridge price/tooth ) Quote by Dr.
ครอบฟัน/สะพานฟัน เซรามิก , E.Max etc. ( Ceramic , E.Max  etc. crown/bridge price/tooth ) 14,000-16,000
ครอบฟัน/สะพานฟัน เซอร์โคเนีย ( Zirconia crown/bridge price/tooth ) 16,000-18,000
ครอบฟัน/สะพานฟัน เซอร์โคเนีย CAD/CAM ( Zirconia CAD/CAM crown/bridge price/tooth ) with Scan 20,000
ครอบฟันบางส่วน อินเลย์ ออนเลย์ ( metal ,ceramic Inlay/Onlay , price/tooth ) 10,000-14,000
ครอบฟันบางส่วน อินเลย์ ออนเลย์ ที่ใช้โลหะทอง ( Gold Inlay/Onlay , price/tooth ) Quote by Dr.

หมายเหตุ กรุณาสอบถามราคากับทันตแพทย์ที่คลินิกอีกครั้ง

คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการทำครอบฟัน

มีครอบฟันจัดฟันได้ไหม

สามารถจัดฟันได้ เพียงแต่ว่าการเข้ารับการจัดฟัน ก็จะต้องติดเครื่องมือจัดฟันบนครอบฟันเหล่านั้น และพื้นผิว porcelain ก็จะสูญเสียความเรียบ ความมันวาวไป ในกรณีแบบนี้อาจต้องพิจารณาว่าอยากจะทำครอบฟันใหม่หรือไม่ หรือจะใช้การขัดแต่งให้ผิวครอบฟันเรียบเนียนเหมือนเดิม

อีกทางเลือกหนึ่งหากคนไข้ทราบอยู่แล้วว่าจะต้องทำการจัดฟัน และครอบฟันด้วย ก็อาจเลือกทำครอบฟันชั่วคราวไปก่อน พอจัดฟันเสร็จแล้ว จึงค่อยทำครอบฟันจริงมาใส่แทนก็ได้

บทความนี้ตรวจสอบโดย

ทพ. อดิศร หาญวรวงศ์

Adisorn Hanworawong

ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master in Implant Dentistry (gIDE/UCLA CA. USA.)
วท.ม. สาขาวิทยาการแพทย์ (วิศวกรรมเนื้อเยื่อ)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศนียบัตร อบรมหลักสูตรจัดฟัน Fellowship of Indian Academy of Orthodontics
Invisalign Cert., Invisalign provider

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้เหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์และใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเนื้อหา บริการ และการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับคุณ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกและจะถูกเก็บเป็นความลับ

บันทึกการตั้งค่า