อุดฟัน มีกี่แบบ ราคาเท่าไหร่ ทำไมต้องอุดฟัน

การอุดฟัน คือ การทำทันตกรรมเพื่อรักษาฟันที่ผุ กร่อน สึก หรือแตก โดยการใช้วัสดุอุดฟันเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป เพื่อให้ได้รูปร่างฟันคงเดิม ป้องกันไม่ให้เนื้อฟันถูกทำลายเพิ่ม และสามารถใช้งานได้ตามปกติ

อุดฟันมีกี่แบบ

การอุดฟันโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 แบบตามชนิดของวัสดุที่ใช้อุดฟันดังนี้

  1. อมัลกัม (Amalgam): วัสดุอุดฟันประเภทนี้ทำจากส่วนผสมของเงิน, ดีบุก, และสังกะสี มีความทนทานและแข็งแรง แต่เนื่องจากมีสีเข้มจึงไม่นิยมใช้กับฟันหน้า เหมาะสำหรับใช้กับฟันกรามแทน ข้อดีคือมีความทนทานสูงมาก อยู่ได้หลายสิบปี และมีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น
  2. เรซินคอมโพสิต (Composite Resin): วัสดุอุดฟันประเภทนี้มีหลายเฉดสีให้เลือกเพื่อให้ดูกลมกลืนกับฟันธรรมชาติข้างเคียงได้ นิยมใช้กับฟันหน้าเพื่อความสวยงาม ปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่การอุดฟันด้วยวัสดุเรซินคอมโพสิต มีความแข็งแรงเกือบเทียบเท่าอมัลกัมแล้ว ข้อด้อยคือ กระบวนการในการทำค่อนข้างละเอียด ไม่ควรให้น้ำลายปนเปื้อนกับวัสดุอุด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง มีโอกาสทำให้เกิดอาการเสียวฟันหลังอุดเสร็จได้ หรือทำให้วัสดุรั่วในอนาคต อาจต้องมาอุดใหม่ถ้าทำไม่ดี
  3. กลาสไอโอโนเมอร์ (Glass Ionomer): วัสดุอุดประเภทนี้ปล่อยฟลูออไรด์ออกมาซึ่งช่วยป้องกันฟันผุ เหมาะสำหรับการอุดฟันในเด็กหรือส่วนที่ไม่ต้องรับแรงกัดเคี้ยวมาก
การอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม
การอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม

 

การอุดฟันด้วยวัสดุเรซินคอมโพสิต
การอุดฟันด้วยเรซินคอมโพสิต

อุดฟันแบบไหนดี

การเลือกวัสดุอุดฟันให้เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของฟันที่ต้องการอุด ความต้องการด้านความสวยงาม ราคา และสุขภาพโดยรวมของเหงือกและฟันของคนไข้

  • ขนาดและตำแหน่งของฟันผุ หากฟันผุอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ฟันหน้า ควรเลือกใช้วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน เช่น เรซินคอมโพสิต เพื่อความสวยงาม
  • งบประมาณ หากมีงบประมาณจำกัด ควรเลือกใช้วัสดุอุดฟันอมัลกัม เพราะราคาถูกกว่า
  • ความต้องการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยต้องการวัสดุอุดฟันที่มีความแข็งแรงทนทาน ควรเลือกใช้วัสดุอมัลกัมหรือเรซินคอมโพสิต
วัสดุ ข้อดี ข้อเสีย
อมัลกัม (Amalgam) แข็งแรง ทนทาน ราคาถูก ต้องกรอเนื้อฟันออกค่อนข้างมาก สีไม่เหมือนฟันธรรมชาติ
เรซินคอมโพสิต (Composite resin) สวยงาม สีเหมือนฟันธรรมชาติ ใช้ได้ทั้งฟันหน้าและหลัง ปัจจุบันมีความแข็งแรงใกล้เคียงอมัลกัม ราคาสูงกว่า
กลาสไอโอโนเมอร์ (Glass Ionomer) สีเหมือนฟันธรรมชาติ วัสดุสามารถปล่อยฟลูออไรด์ได้ ไม่ค่อยแข็งแรงทนทาน

เมื่อไหร่ควรอุดฟัน

เมื่อรู้สึกว่าฟันของเราเป็นดังต่อไปนี้

  • ฟันผุ – ควรเข้ารับการอุดฟันเมื่อมีฟันผุ ซึ่งอาจมีอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น เสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารเย็นหรือร้อน, มีรูหรือโพรงบนฟัน, ฟันเปลี่ยนสี, ฟันโยกหรือหลวม, เหงือกอักเสบ
  • ฟันหักหรือบิ่น – หากฟันหักหรือบิ่นจากอุบัติเหตุหรือการใช้งานในชีวิตประจำวัน การอุดฟันสามารถช่วยทำให้รูปร่างฟันกลับมาเหมือนเดิม และสามารถใช้งานได้ตามปกติ
  • เปลี่ยนวัสดุอุดเก่า – หากวัสดุที่ใช้อุดฟันเก่าเริ่มสึกหรอ หลุดออก หรือมีการรั่วของวัสดุอุดฟันที่อาจทำให้เกิดการฟันผุใหม่ ควรอุดฟันใหม่อีกครั้ง
  • เพื่อการทันตกรรมอื่น – ในบางกรณีอาจต้องมีการอุดฟันเพื่อเตรียมสำหรับการทำทันตกรรมอื่นๆ เช่น การติดตั้งสะพานฟัน เป็นต้น

การเตรียมตัวก่อนอุดฟัน

  • แปรงฟันและบ้วนปากให้สะอาดก่อนเข้ารับการรักษา เพื่อให้ทันตแพทย์ตรวจฟันได้ง่ายขึ้น
  • แจ้งประวัติการแพ้ยาให้ทันตแพทย์ทราบ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา
  • ทำการนัดหมายเพื่อตรวจสอบสุขภาพเหงือกและฟัน หากมีการผุรุนแรงถึงโพรงประสาท อาจจำเป็นต้องดำเนินการรักษารากฟัน
  • หากทราบว่าจะเป็นการอุดฟันด้วยอมัลกัม ให้รับประทานอาหารมาก่อน เพราะจะต้องรอเวลา 24 ชั่วโมงก่อนที่จะใช้งานฟันซี่นั้นได้
  • หากมีฟันปลอมแบบถอดได้หรือรีเทนเนอร์ ควรนำมาด้วย เพราะทันตแพทย์ต้องทำการทดสอบว่าหลังอุดฟันแล้วยังสามารถใส่ฟันปลอมหรือรีเทนเนอร์ได้
  • หากเป็นเด็ก ควรเข้ารับการรักษาห่างจากมื้ออาหาร 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียน

ขั้นตอนการอุดฟัน วิธีการอุดฟัน ทำอย่างไร

  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจสอบสุขภาพฟัน เช็คสภาพฟันที่ผุ ว่าสามารถรักษาด้วยการอุดฟันได้หรือไม่
  2. ทันตแพทย์กรอเนื้อฟันส่วนที่ผุ โดยจะกรอเอาเนื้อฟันที่มีเชื้อออกให้หมด แล้วค่อยทดแทนด้วยวัสดุอุดฟัน ลักษณะเนื้อฟันดังกล่าวจะนิ่ม ยุ่ย และสีไม่เหมือนเดิม หากฟันผุถึงโพรงประสาทฟันอาจมีการฉีดยาชาร่วมด้วยเพื่อลดอาการเจ็บ
  3. ถ้าอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน จะทำการใส่เรซินสลับกับการฉายแสง LED ให้วัสดุแข็งตัว
  4. หากทำการอุดฟันที่ฟันกราม อาจมีการกรอฟันออกเยอะ เพื่อให้วัสดุอุดฟันมีความหนาที่เพียงพอ ไม่อย่างนั้นเนื้อฟันที่บางจะเป็นจุดอ่อนทำให้แตกง่าย
  5. หากเป็นการอุดฟันด้านประชิด หรือที่เป็นด้านที่อยู่ระหว่างฟันกับฟัน จะต้องเหลือระยะให้คนไข้สามารถใช้ไหมขัดฟันได้ตามปกติ
  6. เมื่ออุดจนเพียงพอแล้ว ทันตแพทย์จะทำการปรับแต่ง ขัดวัสดุ ให้การสบฟันคล้ายเดิมที่สุด จะไม่อุดฟันจนวัสดุอุดขึ้นมาสูงมากจนทำให้เสียวฟันหรือปวดฟัน
  7. ทำความสะอาดฟัน ทันตแพทย์จะทำความสะอาดฟันและแนะนำการดูแลรักษาฟันหลังการอุดฟัน

ข้อดีของการอุดฟัน

  • ช่วยให้ฟันที่เสียหายกลับมาใช้งานได้ปกติ
  • ช่วยป้องกันไม่ให้ฟันผุลุกลามไปยังเนื้อฟันชั้นในและฟันข้างเคียง
  • ช่วยลดความไวต่อการรับรู้อุณหภูมิร้อนหรือเย็นที่ทำให้เสียวฟัน
  • ช่วยปรับปรุงรูปลักษณ์ของฟันที่แตก หัก บิ่น ผุ กลับมาสวยงาม

ข้อเสียของการอุดฟัน

  • ต้องมีการกรอเนื้อฟันบางส่วนออก
  • อาจเกิดการเสียวฟันได้ชั่วคราวหลังการอุดฟัน
  • วัสดุอุดฟันอาจไม่ทนทานเท่าฟันธรรมชาติ อาจต้องเปลี่ยนหรือมีการซ่อมแซมหลังจากใช้งานไปเป็นระยะเวลานาน
  • หากอุดไม่ดี อาจมีการรั่วซึม ให้เศษอาหารตกค้างข้างใน ก่อให้เกิดเชื้อโรค ทำให้ฟันผุ
  • การอุดฟันไม่สามารถทำได้ในกรณีที่สูญเสียเนื้อฟันไปเป็นจำนวนมาก เช่น จากอุบัติเหตุ
  • วัสดุอุดฟันแบบเรซินคอมโพสิตสีเหมือนฟันสามารถติดสีจากอาหารได้

การดูแลรักษาหลังการอุดฟัน

  • หลังการอุดฟัน ฟันอาจมีความไวต่ออุณหภูมิ ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นจัดเป็นเวลา 1-2 วัน
  • 1-2 อาทิตย์แรกให้ใช้ฟันอย่างทะนุถนอม รับประทานอาหารอ่อนๆ หากมีอาการเสียวฟันยิ่งควรรับประทานอาหารอ่อน
  • หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวอาหารที่แข็งเพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุอุดฟันแตกหรือหลุด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • ควรแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวันเพื่อรักษาสุขภาพช่องปากและลดโอกาสการเกิดฟันผุใหม่รอบๆ บริเวณที่อุด
  • อย่าเพิ่งฟอกสีฟันเอง เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เสียวฟันมากขึ้น
  • มาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนเป็นประจำทุก 6 เดือน รวมถึงเพื่อตรวจหาและรักษาฟันผุตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการอุดฟัน

อุดฟันเจ็บมั้ย – อุดฟันหน้าเจ็บไหม

การอุดฟันจะเจ็บหรือไม่เจ็บนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับความลึกของฟันผุ ตำแหน่งของฟันที่ผุ สภาพของเนื้อฟันที่ต้องกรอออก รวมถึงประสบการณ์ของทันตแพทย์

สาเหตุที่อุดฟันแล้วปวดมีได้ดังนี้

  1. เกิดจากกระบวนการทำ เช่น ฟันผุลึกและต้องฉีดยาชา การเจ็บปวดอาจเกิดจากรอยฉีดยาชา ซึ่งไม่เกี่ยวกับการอุดฟันโดยตรง
  2. เกิดจากการอุดฟันที่ผุลึกมาก ยิ่งใกล้เส้นประสาท ยิ่งรู้สึกไม่สบาย รู้สึกปวดง่าย
  3. รอยอุดใหญ่มาก ใช้วัสดุทดแทนฟันธรรมชาติเยอะ เมื่อบดเคี้ยวอาหารวัสดุจะมีการบิดตัวทำให้เสียวฟันได้

ทั้ง 3 ข้อข้างต้นนี้ให้รอประมาณ 10-14 วันจะค่อยๆ อาการดีขึ้น แต่หากไม่ดีขึ้นให้กลับมาพบทันตแพทย์

อุดฟันผุมากได้หรือไม่

ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของฟันผุ หากฟันผุลึกถึงโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะไม่สามารถอุดฟันได้ เนื่องจากจะต้องรักษารากฟันก่อนจึงจะสามารถอุดฟันได้

ระดับความลึกของฟันผุแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 : ฟันผุอยู่ที่ผิวเคลือบฟัน (enamel) ยังไม่มีการทำลายเนื้อฟันชั้นใน

ระดับที่ 2 : ฟันผุทะลุเข้าไปในเนื้อฟันชั้นนอก (dentin) บางส่วน

ระดับที่ 3 : ฟันผุทะลุเข้าไปในเนื้อฟันชั้นใน (dentin) ทั้งหมด

ระดับที่ 4 : ฟันผุทะลุเข้าไปในโพรงประสาทฟัน (Pulp)

หากฟันผุอยู่ในระดับที่ 1 หรือ 2 ทันตแพทย์สามารถอุดฟันให้ได้ โดยกรอฟันที่ผุออกให้หมด ให้เหลือเนื้อฟันที่แข็งแรงพอที่จะยึดวัสดุอุดฟันได้ จากนั้นจึงใส่วัสดุอุดฟันลงไป

หากฟันผุอยู่ในระดับที่ 3 ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องใส่วัสดุอุดฟันชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับฟันก่อน จากนั้นจึงใส่วัสดุอุดฟันทั่วไปลงไปอีกชั้นหนึ่ง

หากฟันผุอยู่ในระดับที่ 4 ทันตแพทย์จะไม่สามารถอุดฟันได้ เนื่องจากจะต้องรักษารากฟันก่อนจึงจะสามารถอุดฟันได้ การรักษารากฟันเป็นการรักษาที่ใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูง ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าฟันซี่นั้นควรรักษารากฟันหรือไม่

ดังนั้น หากพบว่าฟันเริ่มผุ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุลุกลามไปยังเนื้อฟันชั้นในและทำให้ฟันผุมากขึ้น เพราะบางครั้งที่เราเห็นว่าผุเพียงเล็กน้อยที่ด้านนอก แต่ความจริงด้านในอาจลุกลามไปแล้วโดยที่คนไข้มองไม่เห็นก็ได้

อนึ่งหากฟันยังไม่ผุและต้องการที่จะป้องกันฟันผุในอนาคต คนไข้สามารถเลือกทำการเคลือบหลุมร่องฟันได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เคลือบฟันที่ยังไม่ผุด้วยการใช้เรซินเคลือบลงบนฟันด้านบดเคี้ยว

อุดฟันใช้เวลานานไหม อุดฟันกี่นาที

โดยทั่วไปแล้ว การอุดฟันใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หากฟันผุไม่ลึกมาก และอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย

หากฟันผุลึกมาก หรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยาก ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้เวลานานขึ้นในการอุดฟัน เช่น อาจใช้เวลา 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

นอกจากนั้นหากใช้วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟันจะใช้เวลาอุดนานกว่า เนื่องจากต้องฉายแสงให้วัสดุอุดฟันแข็งตัวด้วย

อุดฟันราคาเท่าไหร่

รายการ ราคา (บาท)
อุดฟันฟัน ราคา/ด้าน (  Fillings  price / surface ) 650
บูรณะฟันทั้งซี่ที่แตกหรือผุใหญ่ ( Restoration on fracture tooth  or large cavity ) 3,500
อุดฟันชั่วคราว (Temporary filling) 500
ใช้ยาชาร่วมกับการอุดฟัน ( Local Anesthesia for Filling or restoration ) 200

ราคาการอุดฟันนั้นคิดเป็นด้าน โดยฟันแต่ละซี่ มี 5 ด้านดังนี้

การอุดฟัน 5 ด้านมีอะไรบ้าง

อนึ่งหากฟันผุมาก เช่น 3 ด้านและแต่ละด้านใหญ่มาก การอุดฟันอาจไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูความแข็งแรงของฟัน ต้องใช้วิธีอื่นๆ

อุดฟันแล้วปวด ทำยังไง

การอุดฟันแล้วปวดสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผุลึกและอยู่ใกล้เส้นประสาทมากก็จะปวดมาก คนไข้สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้

อย่างไรก็ตามสัญญาณอันตรายหลังอุดฟัน มีลักษณะดังนี้

  • ปวดฟันตอนดึกๆ โดยไม่มีสิ่งกระตุ้น เช่น นอนอยู่เฉยๆ แล้วปวด
  • เวลารับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ หรือมีความร้อน
  • เสียวฟันจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่เย็น แต่เมื่อทานเสร็จแล้วยังเสียวฟันต่อเป็นนาทีแม้เอาสิ่งกระตุ้นออก

อาการเหล่านี้แปลว่าเส้นประสาทน่าจะได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรง อาจต้องทำการรักษารากฟันหรือรักษาทางทันตกรรมอื่นๆ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบทันตแพทย์เพราะยิ่งปล่อยไว้จะยิ่งมีอาการแย่ลง เช่น อาจเป็นหนองที่ปลายรากฟัน และต้องถอนฟันทิ้ง เป็นต้น

บทความนี้ตรวจสอบโดย

ทพ. อดิศร หาญวรวงศ์

Adisorn Hanworawong

ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master in Implant Dentistry (gIDE/UCLA CA. USA.)
วท.ม. สาขาวิทยาการแพทย์ (วิศวกรรมเนื้อเยื่อ)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศนียบัตร อบรมหลักสูตรจัดฟัน Fellowship of Indian Academy of Orthodontics
Invisalign Cert., Invisalign provider

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้เหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์และใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเนื้อหา บริการ และการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับคุณ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกและจะถูกเก็บเป็นความลับ

บันทึกการตั้งค่า