รากฟันเทียม (Dental Implant) คือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทดแทนรากฟันที่สูญเสียไป โดยปกติจะทำจากไทเทเนียม ซึ่งเป็นโลหะที่เข้ากับร่างกายคนได้ดี และมีความทนทานสูง รากฟันเทียมถูกออกแบบมาเพื่อที่จะถูกฝังลงไปในกระดูกขากรรไกรของผู้ป่วย และทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับการติดตั้งฟันเทียมด้านบนโดยทันตแพทย์อาจจะทำฟันปลอม หรือครอบฟันมายึดติดกับราก ทดแทนฟันที่หลุดไป เพื่อให้ฟันสามารถบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าฟันจริง
การทำฟันปลอมแบบอื่นๆ อาจให้ความรู้สึกไม่เหมือนธรรมชาติ การเคี้ยวและขบฟันอาจมีความติดขัดมากกว่าแบบรากฟันเทียม รากฟันเทียมจึงเป็นฟันปลอมติดแน่นที่ดีที่สุด ช่วยให้รับประทานอาหารได้สะดวกกว่า ไม่ต้องวุ่นวายถอดฟันปลอม ดูแลทำความสะอาดง่ายเหมือนฟันแท้
ส่วนประกอบของรากฟันเทียม
รากฟันเทียมประกอบด้วยส่วนหลักๆ 3 ส่วน ได้แก่:
- รากฟันเทียม (Implant): นี่คือส่วนที่ถูกฝังเข้าไปในกระดูกขากรรไกร เพื่อทำหน้าที่เหมือนรากฟันธรรมชาติ โดยมักทำจากไทเทเนียมหรือวัสดุอื่นที่เข้ากันได้ดีกับร่างกายมนุษย์ เช่น เซรามิกหรือเซอร์โคเนีย (Zirconia)
- แอบัทเมนท์ (Abutment): ส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างรากฟันเทียมกับฟันเทียม แอบัทเมนท์จะถูกยึดติดกับส่วนบนของรากฟันเทียมและโผล่ออกมาเหนือเนื้อเยื่อเหงือก
- ฟันเทียม (Crown): นี่คือส่วนที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก ซึ่งทำหน้าที่เป็นฟัน โดยสามารถทำมาจากวัสดุต่างๆ เช่น พอร์ซเลน, เซรามิก, หรือวัสดุผสม เพื่อให้มีลักษณะ รูปร่างสี และความแข็งแรงเหมือนฟันจริง
หลักการทำงานของรากเทียม
รากเทียมเป็นส่วนสำคัญที่ทำงานร่วมกับกระดูกขากรรไกร เมื่อรากเทียมและกระดูกขากรรไกรผสานกันอย่างสมบูรณ์ จะทำให้สามารถรองรับฟันปลอมได้อย่างมั่นคง ฟันปลอมหรือที่ยึดฟันปลอมที่ใช้ร่วมกับรากเทียมจะไม่เคลื่อนหรือหลุดออกจากตำแหน่งที่ต้องการ ทำให้เวลาพูดหรือรับประทานอาหารรู้สึกเป็นธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมแบบธรรมดา ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้คนไข้มีความรู้สึกสบายมากขึ้น ไม่ต้องทนกับอาการเจ็บ หรือความรู้สึกนูนที่อาจเกิดจากฟันปลอม รวมถึงการรู้สึกไม่สบายจากการยึดฟันปลอมกับฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่
นอกจากนั้นการทำรากเทียมยังข้อดีตรงที่ไม่ต้องกรอฟันเพื่อเตรียมติดสะพานฟัน ทำให้ไม่ต้องสูญเสียเนื้อฟันตามธรรมชาติ แต่สามารถเจาะลงไปบนกระดูกขากรรไกรได้เลย ขอแค่ผู้ป่วยมีสุขภาพเหงือกและกระดูกที่แข็งแรงและเพียงพอสำหรับการใส่รากฟันเทียม
รากฟันเทียมทำจากอะไร
รากฟันเทียมส่วนใหญ่ทำมาจากไทเทเนียม เพราะเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติทนทานและแข็งแรง อีกทั้งยังเข้ากันได้ดีกับร่างกายมนุษย์ มีความพิเศษในเรื่องของการรวมตัวกับกระดูก (Osseointegration) ทำให้กระดูกสามารถผนึกกับไทเทเนียมได้อย่างมั่นคง ทำให้ฐานฟันมีความแข็งแรง นอกจากนี้ ไทเทเนียมยังเป็นโลหะที่ร่างกายยอมรับได้ดี (Biocompatibility) เนื่องจากมีความเสถียรทางเคมีสูง ทำให้ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ในร่างกาย
การทำรากฟันเทียมมีกี่แบบ
การทำรากฟันเทียมมีหลายแบบ แต่หากแบ่งตามระยะเวลาที่ใช้ในการทำรากฟันเทียมจะแบ่งได้ 3 แบบ คือ Conventional Implant, Immediate Implant, Immediate loaded Implant และมีรายละเอียดดังนี้
Conventional Implant
Conventional Implant คือ วิธีการรักษาแบบดั้งเดิม มี 2 ขั้นตอน ใช้เวลาหลายเดือนในการรักษา ขั้นตอนแรกเริ่มจากถอนฟันเดิมออกก่อนและรอประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้กระดูกตรงส่วนที่ถอนออกไปหายสมบูรณ์ก่อน แล้วจึงใส่รากฟันเทียม จากนั้นก็รออีก 3-6 เดือนเพื่อให้กระดูกมายึดกับรากฟันเทียมที่ฝังลงไปให้แน่นหนาก่อน (เรียกว่าosseointegration) แล้วค่อยติดตั้งฟันเทียมเป็นอย่างสุดท้าย
Immediate Implant
Immediate Implant คือ การฝังรากฟันเทียมลงในขากรรไกรทันทีหลังจากการถอนฟัน ข้อดีของวิธีนี้คือลดระยะเวลาการรักษา คนไข้จะต้องได้รับการประเมินจากทันตแพทย์ว่ามีกระดูกขากรรไกรที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี หลังจากฝังรากฟันเทียมแล้วก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้กระดูกเข้ามายึดรากฟันเทียมก่อน แล้วค่อยติดตั้งฟันเทียม
Immediate loaded Implant
Immediate loaded Implant คือ การใส่รากฟันเทียม ร่วมกับการทำครอบฟันชั่วคราวหรือถาวรในวันเดียวกัน เรียกอีกอย่างว่ารากฟันเทียมใน 1 วัน การจะทำแบบนี้ได้คนไข้ต้องมีกระดูกขากรรไกรที่แข็งแรงและมั่นคงเพียงพอที่จะรองรับครอบฟันได้ทันที
ขั้นตอนการทำรากฟันเทียม
การทำรากฟันเทียมหรือการฝัง dental implants มีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้:
- ประเมินและวางแผนการรักษา: ทันตแพทย์ประเมินสภาพของปากและฟันของผู้ป่วย ตรวจสอบสุขภาพของเหงือกและกระดูกขากรรไกร อาจรวมถึงการถ่ายภาพรังสีX-ray เพื่อดูสภาพภายในกระดูกขากรรไกรและการวางตำแหน่งรากฟันเทียมที่เหมาะสม
- เคลียร์ช่องปากเพื่อฝังรากฟันเทียม: เคลียร์ช่องปากให้เรียบร้อยและถอนฟันถ้าจำเป็น ในบางกรณีที่กระดูกขากรรไกรมีความบางหรือแข็งแรงไม่พอ อาจต้องทำการเพิ่มกระดูกหรือ bone grafting (3-6 เดือน)เพื่อสร้างฐานที่แข็งแรงสำหรับรากฟันเทียม
- ฝังรากฟันเทียม: ทันตแพทย์ทำการฝังโครงสร้างที่ทำจากไทเทเนียมหรือวัสดุที่เข้ากันได้กับร่างกายลงในกระดูกขากรรไกร จากนั้นจะปิดบริเวณที่ผ่าตัดด้วยเหงือก นัดตัดไหมในอีกประมาณ 7-14 วัน และปล่อยให้มีการรักษาตัวเองเป็นเวลาประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้รากฟันเทียมรวมตัวกับกระดูกขากรรไกร (กระบวนการนี้เรียกว่า osseointegration)
- การติดตั้งโครงสร้างยึดฟันเทียม (Abutment): หลังจากกระบวนการ osseointegration เสร็จสิ้น จะมีการฝังโครงสร้างสำหรับยึดฟันเทียมหรือ abutment ซึ่งเป็นส่วนที่จะเชื่อมรากฟันเทียมกับฟันเทียมตัวใหม่ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์
- การติดตั้งฟันเทียม (Prosthetic Tooth Installation): เป็นขั้นตอนสุดท้ายฟันเทียมจะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีขนาด สีและรูปร่างใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติของผู้ป่วย โดยฟันเทียมนี้อาจเป็นครอบฟัน, สะพานฟัน, หรือเซ็ตฟันเทียมครบชุด ขึ้นอยู่กับความต้องการและการออกแบบการรักษาทันตแพทย์จะทำการติดตั้งฟันเทียมนี้ลงบนโครงสร้างยึด (abutment) ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ก่อนหน้านี้บนรากฟันเทียม ขั้นตอนนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าฟันเทียมมีความแน่นมั่นคงและเข้ากับการสบฟันและรูปลักษณ์โดยรวมของผู้ป่วย
การเตรียมตัวก่อนทำรากฟันเทียม
- เข้าปรึกษากับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสภาพช่องปาก วางแผนการรักษา และเลือกชนิด รวมถึงยี่ห้อของรากฟันเทียมที่เหมาะสม
- หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติแพ้ยา ให้แจ้งทันตแพทย์ก่อนการรักษา
- หากสูบบุหรี่ ให้งดสูบก่อนและหลังทำรากฟันเทียม เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า
- หากต้องใส่รากฟันเทียมหลายซี่หรือทำรากเทียมทั้งปาก หรือมีการสูญเสียกระดูกขากรรไกรจำนวนมาก ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เอกซเรย์สามมิติเพื่อวางแผนการรักษาที่ดียิ่งขึ้น
- สอบถามข้อมูลที่สงสัยหรือกังวล เพราะจะช่วยลดความเครียดและความกังวลก่อนการทำรากเทียมได้
- ทานอาหารที่ชอบเพราะจะทานอาหารอร่อยๆ ไปไม่ได้อีกหลายวัน
- เตรียมอาหารอ่อนๆ ไว้ในตู้เย็น เช่น โจ๊ก เพราะจะต้องรับประทานอาหารอ่อนไประยะหนึ่ง
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงในคืนก่อนทำรากฟันเทียม
- รับประทานยาประจำตัวตามปกติ ยกเว้นในกรณีที่ทันตแพทย์สั่งงด
- วางแผนการเดินทางให้ดี เช่น อาจให้คนที่บ้านมารับหลังฝังรากเทียมเสร็จ เพราะอาจมีอาการเพลียได้
รากฟันเทียมเหมาะกับใคร ไม่เหมาะกับใคร
รากฟันเทียมเหมาะกับ
- ผู้ที่มีฟันแตกหรือหัก หรือสูญเสียฟันจากอุบัติเหตุ
- ผู้ที่มีเหงือกบริเวณที่จะทำรากฟันเทียมแข็งแรง
- ผู้ที่เคยทำฟันปลอมแบบถอดได้ แต่ไม่ประสบผลตามที่ต้องการ
- ผู้ที่มีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี
รากฟันเทียมไม่เหมาะกับ
- เด็กและวัยรุ่นที่กระดูกยังไม่เติบโตเต็มที่ กระดูกขากรรไกรไม่แข็งแรง
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็งที่ต้องมีการฉายรังสีบริเวณใบหน้าหรือช่องปาก หรือโรคที่มีผลต่อการรักษาแผล
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ควรทำหลังคลอดแล้ว
- ผู้ป่วยที่ต้องรับยากดภูมิ ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่
ข้อดีของรากฟันเทียม
- รากฟันเทียมมีความแข็งแรงสูงและสามารถใช้งานได้นานหลายปี
- รากฟันเทียมมีลักษณะคล้ายฟันจริงทั้งรูปร่างและสี
- ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหาร ทำงานได้ดีไม่ต่างจากฟันธรรมชาติ
- ช่วยรักษาโครงสร้างของขากรรไกรและใบหน้า
- ไม่มีปัญหาในการออกเสียง เมื่อเทียบกับฟันเทียมชนิดอื่นๆ
- ช่วยให้มีความมั่นใจเมื่อพูดหรือยิ้ม และยังดูแลรักษาความสะอาดง่ายเหมือนฟันธรรมชาติ
- รากฟันเทียมไม่ต้องกรอฟันข้างเคียง
ข้อเสียของรากฟันเทียม
- มีค่าใช้จ่ายสูง
- ใช้เวลานานกว่าฟันปลอมแบบอื่น อาจหลายเดือนหรือเป็นปี
- มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในระหว่างกระบวนการปลูกรากฟันเทียม
- ต้องการการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับฟันธรรมชาติ
- ในบางกรณี ร่างกายอาจไม่ยอมรับรากฟันเทียม
- คนไข้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดไม่สามารถทำรากฟันเทียมได้ ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนทำ
วิธีดูแลฟันหลังใส่รากฟันเทียม
ในช่วงวันแรกๆ ที่เพิ่งทำรากฟันเทียมเสร็จนั้นสำคัญมาก ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารบริเวณรากฟันเทียมรวมถึงให้ทานอาหารอ่อนๆ ง่ายต่อการเคี้ยว ประมาณ 1-2 เดือน ไม่ควรรับประทานอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดในช่วงแรก ไม่ควรสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้กระบวนการรักษาช้าลง แปรงฟันเบาๆ รอบๆ แผล และใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และหมั่นตรวจสอบว่ามีอาการปวดหรือบวมค่อยๆ ลดลงหรือไม่
รากฟันเทียมสามารถมีอายุการใช้งานได้ 15-20 ปี หากดูแลได้ดีรากฟันเทียมสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลรักษารากฟันเทียม
รีวิวเคสรากฟันเทียม
ราคารากฟันเทียม
รายการ | ราคา (บาท) |
รากฟันเทียม เกาหลี ( Dental Implant made in Korea ) Osstem , Neo Biotech. | 38,000-50,000 |
รากฟันเทียม ยี่ห้อ Alpha Bio , MIS7 ( Alpha Bio , MIS7 Dental Implant ) | 50,000 |
รากฟันเทียม ยี่ห้อ Straumann (Straumann Dental Implant ) | 75,000 |
รากฟันเทียมเซรามิก ( Ceramic Dental Implant ) | 75,000 |
หมายเหตุ กรุณาสอบถามราคากับทันตแพทย์อีกครั้ง เพราะมีจัดโปรบ่อยมากๆ
คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับรากฟันเทียม
ทำไมบางคนต้องมีการปลูกกระดูกร่วมกับการทำรากเทียม?
คนไข้จะต้องปลูกกระดูกเมื่อบริเวณที่จะทำรากฟันเทียมมีกระดูกน้อยเกินไปหรือกระดูกไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับรากฟันเทียม ซึ่งอาจเกิดจากการสูญเสียฟันมานาน, โรคปริทันต์, หรือการสูญเสียมวลกระดูกในช่องปาก
รากฟันเทียม มีอายุการใช้งานกี่ปี?
โดยทั่วไปอายุการใช้งานรากฟันเทียมอยู่ที่ 10-20 ปีหรือมากกว่านั้น ความทนทานขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสุขภาพช่องปากโดยรวม
การใส่รากฟันเทียม เจ็บไหม?
การใส่รากฟันเทียมจะใช้ยาชา คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บขณะทำ แต่หลังจากยาชาหมดฤทธิ์หากคนไข้มีสภาพกระดูกที่แข็งแรง มีคุณภาพดี จะรู้สึกปวดใกล้เคียงกับการถอนฟัน
รากฟันเทียมจัดฟันได้ไหม?
รากฟันเทียมไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เหมือนฟันธรรมชาติ จึงควรจัดฟันให้เสร็จเรียบร้อยก่อนค่อยทำรากฟันเทียม ยกเว้นว่ารากฟันเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ดีแล้วไม่ต้องเคลื่อนที่แบบนี้สามารถจัดฟันได้
รากฟันเทียมใช้เวลานานไหม?
กระบวนการทำรากฟันเทียมอาจใช้เวลาตั้งแต่หลายเดือนถึงปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพกระดูกในช่องปาก การรักษาหลังการผ่าตัด และความจำเป็นในการปลูกกระดูก
รากฟันเทียมอักเสบ ทำยังไงดี?
หากรากฟันเทียมอักเสบ ควรรีบติดต่อพบทันตแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรักษา การรักษาอาจรวมถึงการทำความสะอาดรอบๆ รากฟันเทียม การใช้ยาปฏิชีวนะ และในกรณีที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อแก้ไข