การทำรากฟันเทียมทั้งปากมักใช้สำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียฟันทั้งปาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยวอาหาร การพูด รูปลักษณ์ และความมั่นใจ การสูญเสียฟันทั้งปากอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคปริทันต์ ฟันผุจำนวนหลายซี่ อุบัติเหตุ หรือโรคบางชนิดที่ต้องถอนฟันออกทั้งปาก
การทำรากฟันเทียมทั้งปากจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการฝังรากฟันเทียมแทนที่ฟันเดิม แล้วประกอบเข้ากับฟันปลอม ช่วยฟื้นฟูหน้าที่การบดเคี้ยว พูด และรูปลักษณ์ของผู้ป่วยได้อย่างดี
รากฟันเทียมทั้งปากคืออะไร
รากฟันเทียมทั้งปาก (Full Mouth Dental Implants) คือการทำรากฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันแท้ที่สูญเสียไปทั้งปาก ไม่ว่าจะฟันบนหรือฟันล่าง โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดแทนฟันที่หายไปด้วยฟันเทียมที่มั่นคงถาวร สามารถบดเคี้ยวอาหารได้เช่นเดียวกับฟันธรรมชาติ และช่วยให้รูปลักษณ์ของใบหน้าดูดีขึ้น
ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าควรเลือกฝังรากฟันเทียมจำนวนเท่าไหร่ลงบนขากรรไกร ซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 4-8 ซี่ ต่อ 1 ขากรรไกร ส่วนมากมักนิยมทำ 4,5,6 ซี่หรือที่เรียกว่า All on 4, All on 5 และ All on 6 ตามลำดับ
เมื่อฝังรากฟันเทียมเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะทำฟันปลอมแบบครอบทั้งปาก (Full-arch prosthesis) ยึดติดบนรากฟันเทียม ช่วยให้คนไข้สามารถใช้งานฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รากฟันเทียมทั้งปากเหมาะกับใคร
รากฟันเทียมทั้งปากเหมาะสำหรับผู้ที่
- สูญเสียฟันทั้ังปากหรือเกือบทั้งปาก มีฟันสึก ฟันโยกหลายซี่ เนื่องจากโรคปริทันต์เรื้อรัง อุบัติเหตุ หรือความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ที่ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
- มีการสูญเสียเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกรองรับฟัน ทำให้การใส่ฟันปลอมแบบพลาสติกแบบถอดได้ไม่สามารถยึดเกาะได้ดีพอ การใช้รากฟันเทียมจะทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะที่มั่นคงกว่ามาก
- ต้องการฟันทดแทนที่สามารถใช้งานได้ยาวนานถาวร ลดความยุ่งยากที่ต้องถอดฟันปลอมเข้าๆ ออกๆ ได้
- มีสภาพร่างกายและความแข็งแรงของกระดูกขากรรไกรเพียงพอที่จะเข้ารับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม
- มีความพร้อมทางการเงินสำหรับการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
เกณฑ์การรักษาของคนไข้ มีการวินิจฉัยอย่างไร
การวินิจฉัยและพิจารณาเกณฑ์ความเหมาะสมในการทำรากฟันเทียมทั้งปากของคนไข้นั้น ทันตแพทย์จะต้องตรวจสอบสภาพช่องปากโดยรวมของคนไข้เป็นอย่างแรก เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการติดตั้งรากฟันเทียม ตรวจดูสภาพเหงือก การสูญเสียกระดูกรองรับฟัน ปริมาณและคุณภาพของกระดูกที่เหลืออยู่หากกระดูกที่เหลืออยู่มีปริมาณไม่เพียงพอจะต้องทำการปลูกกระดูกให้เสร็จก่อน นอกจากนี้ โรคประจำตัวของคนไข้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย เนื่องจากโรคบางอย่างอาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการผ่าตัดและการหายของแผล ทันตแพทย์จึงต้องประเมินสภาพร่างกายโดยรวมของคนไข้ควบคู่ไปกับการตรวจสภาพช่องปากด้วย
ขั้นตอนการทำรากฟันเทียมทั้งปาก
รากฟันเทียมทั้งปาก มีขั้นตอนการทำดังต่อไปนี้
- การประเมินและวางแผนการรักษา
ทำการตรวจวินิจฉัยและทำ X-ray รวมถึง CT scan เพื่อประเมินสภาพกระดูก ตำแหน่งเส้นประสาท โพรงไซนัสวางแผนจำนวนรากฟันเทียมที่ต้องฝัง รวมถึงออกแบบรอยยิ้มและขนาดฟันปลอมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยคนไข้ควรปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรากฟันเทียมโดยเฉพาะ
- การฝังรากฟันเทียม
ทำการฝังรากฟันเทียมตามจำนวนและตำแหน่งที่วางแผนไว้ เช่น All on four, All on six โดยพิจารณาจากคุณภาพกระดูกขากรรไกรที่รองรับฟันด้วย
หากเป็นกรณีที่ต้องถอนฟัน อาจฝังรากฟันเทียมได้ทันทีหากตำแหน่งเหมาะสม
- ติดสะพานฟันชั่วคราว
ทันตแพทย์จะใส่ฟันปลอมถอดได้หรือสะพานฟันชั่วคราวก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยใช้งานได้ทันทีเมื่อเดินออกจากคลินิก เพื่อให้สามารถใช้งานได้ในช่วงรอรากฟันเทียมยึดเกาะกับกระดูก (3-8 เดือนขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกกระดูกที่ใช้)
- ติดสะพานฟันจริง
เมื่อรากฟันเทียมยึดเกาะกับกระดูกได้แน่นหนาเพียงพอแล้ว คนไข้เข้าพบทันตแพทย์ตามนัดเพื่อดูสภาพเหงือกและตรวจดูว่ามีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ หากทุกอย่างปกติดีจึงติดตั้งสะพานฟันจริงลงบนรากฟันเทียม
หากคนไข้มีกระดูกขากรรไกรที่แข็งแรงดี มีปริมาณกระดูกเพียงพอ สามารถทำรากฟันเทียมทั้งปากได้ตั้งแต่ต้นจนจบภายในระยะเวลาแค่ 7 วันเท่านั้น
การดูแลรักษา
- หลังการผ่าตัดควรบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ต้องปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง เพราะคนไข้อาจมีอาการแพ้สารต่างๆ ดังกล่าวได้
- ไม่ควรบ้วนปากแรงเกินไปเพราะจะทำให้แผลเปิด
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมต่างๆ ที่จะกระทบบริเวณที่ผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่และการใช้หลอดดื่มน้ำในช่วง 72 ชั่วโมงแรก เพราะการออกแรงดูดสามารถส่งแรงดันไปยังแผลได้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากใน 24 ชั่วโมงแรก เพื่อป้องกันเลือดออกซ้ำ
- หมั่นตรวจเช็คสภาพฟันเทียมกับทันตแพทย์ตามนัด เพื่อปรับแต่งให้สบฟันสนิทและตรวจหาการอักเสบหรือความผิดปกติ
- ดูแลสุขภาพโดยรวม ควบคุมโรคประจำตัว (ถ้ามี) เช่น เบาหวาน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคปริทันต์และการสูญเสียกระดูกรองรับได้ง่าย
- หากเป็นรากฟันเทียมทั้งปากแบบถอดฟันปลอมได้ (Over denture) ต้องถอดออกมาทำความสะอาดด้วย
- หากเป็นรากฟันเทียมทั้งปากแบบถอดฟันปลอมไมได้ (เช่น All on 4, All on 6 ) ต้องใช้ไหมขัดฟันชนิดพิเศษ เรียกว่า Super floss หรือใช้ Water pick เพื่อทำความสะอาดบริเวณช่องว่างระหว่างฟันปลอมกับเหงือกด้วยเพื่อลดการสะสมของเศษอาหารและคราบพลัค
ข้อดีและข้อเสียของการทำรากฟันเทียมทั้งปาก
ข้อดี:
- การทำรากฟันเทียมทั้งปากช่วยฟื้นฟูการบดเคี้ยวให้ใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากที่สุดนอกจากนั้นการกลืนอาหาร และการพูดก็ทำได้เหมือนกับฟันธรรมชาติ
- ช่วยรักษารูปร่างโครงหน้าและกระดูกขากรรไกรไม่ให้เสียรูปทรง ซึ่งมีผลต่อบุคลิกภาพโดยรวม
- ทำความสะอาดง่ายกว่าฟันเทียมชนิดถอดได้ และไม่จำเป็นต้องถอดออกขณะนอนหลับ
- มีความแข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานได้นานเป็น 10-20 ปีหากมีการดูแลรักษาที่ดี
ข้อเสีย:
- ค่าใช้จ่ายในการทำสูงกว่าฟันเทียมชนิดอื่น เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนวัสดุที่ใช้มีราคาสูง
- มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การอักเสบของเหงือก ติดเชื้อ หรือปัญหาการสบฟันไม่สนิท
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
การทำรากฟันเทียมทั้งปากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น :
- การติดเชื้อ จากการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากไม่ดี หรือมีโรคประจำตัวบางอย่างเช่น เบาหวาน ซึ่งทำให้แผลหายช้าและติดเชื้อได้ง่าย
- เลือดออกมากผิดปกติ เนื่องจากผู้ป่วยมีปัญหาในการแข็งตัวของเลือด
- ปัญหาในการสบฟัน ในกรณีที่การฝังรากฟันเทียมแล้วตำแหน่งในการฝังไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ จะทำให้เกิดปัญหาในการสบฟันและบดเคี้ยวอาหาร
- การติดเชื้อบริเวณรอยต่อระหว่างรากเทียมและเหงือก ซึ่งเรียกว่า ภาวะเหงือกอักเสบรอบรากฟันเทียม (Peri-implantitis)
- รากฟันเทียมแตก จากการบดเคี้ยวที่หนักเกินไป
การจัดการกับภาวะแทรกซ้อน
- หากเกิดการติดเชื้อ อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของทันตแพทย์และทำความสะอาดบริเวณแผลอย่างสม่ำเสมอ
- หากมีเลือดออกมาก ให้กดแผลด้วยผ้าก๊อซสะอาดแน่นๆ และปรึกษาทันตแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น
- หากมีปัญหาสบฟันผิดปกติ ต้องนัดหมายกับทันตแพทย์เพื่อปรับแก้ตำแหน่งของรากฟันเทียม
- ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น แปรงสีฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และบ้วนน้ำยาบ้วนปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณเหงือกรอบรากฟันเทียม
รากฟันเทียมทั้งปากราคาเท่าไหร่
หัตถการ (Procedure) | ราคา (บาท) |
All on 4 รากฟันเทียม 4 ตัว + ฟันปลอม 1 ฝา | 171,000 |
All on 4 รากฟันเทียม 8 ตัว + ฟันปลอม 2 ฝา (บน-ล่าง) | 342,000 |
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำรากฟันเทียมทั้งปาก | ราคา (บาท) |
ค่ายา | 250 |
ค่า X-ray ดิจิตอล | 500 |
ค่าสเตอร์ไรด์ 150 บาทต่อครั้งทุกครั้งที่เข้ารับบริการ | 150 |
CT Scan (ในกรณีที่ต้องทำ) | 3500 |
ปลูกกระดูก (ในกรณีที่ต้องทำ) | 15,000-25,000 ต่อจุด |
หมายเหตุ กรุณาสอบถามราคากับทันตแพทย์อีกครั้ง เพราะแต่ละเคสไม่เหมือนกัน เช่น บางเคสไม่จำเป็นต้องปลูกกระดูก เป็นต้น
รีวิวรากฟันเทียม พร้อมครอบฟันทั้งปาก
เคสตัวอย่างการทำรากฟันเทียม และครอบฟันทั้งปาก