การผ่าตัดขากรรไกร หรือการผ่าตัดกระดูกขากรรไกร (Orthognathic Surgery) คือ หัถตการทางทันตกรรมอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างขากรรไกรและใบหน้า โดยแก้ไขรูปร่าง ตำแหน่ง หรือการจัดเรียงของกระดูกขากรรไกร เพื่อปรับปรุงการบดเคี้ยว และรูปลักษณ์ให้สวยงามยิ่งขึ้น
การผ่าตัดขากรรไกรมักทำร่วมกับการจัดฟัน โดยการจัดฟันจะปรับตำแหน่งของฟันให้เรียงตัวเป็นระเบียบก่อน จากนั้นจึงผ่าตัดขากรรไกรเพื่อปรับตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรให้เหมาะสม การสบฟันที่ดีขึ้นจะช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเหงือกและฟัน และทำให้ใบหน้าสมส่วนและสวยงามขึ้น
การผ่าตัดขากรรไกรมักทำในผู้ที่มีปัญหาดังต่อไปนี้
- คนไข้ที่มีการสบฟันผิดปกติ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น ฟันบนหรือล่างยื่น ฟันบนหรือล่างถอย ฟันบนและล่างไม่สบกัน โดยการผ่าตัดจะช่วยปรับตำแหน่งของขากรรไกรให้ฟันบนและล่างสบกันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การพูด การหายใจ เป็นต้น
- คนไข้ที่มีใบหน้าไม่สมส่วน เช่น คางยื่น คางหด คางเบี้ยว การผ่าตัดจะช่วยปรับตำแหน่งของขากรรไกรและใบหน้าให้สมดุลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ใบหน้าดูสวยงามและเพิ่มความมั่นใจให้กับคนไข้
- คนไข้ที่มีปัญหาการหายใจ การผ่าตัดจะช่วยปรับตำแหน่งของขากรรไกรและลิ้น ซึ่งจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และลดปัญหาการหายใจไม่สะดวกและนอนกรน เป็นต้น
การผ่าตัดขากรรไกรเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องอาศัยความชำนาญของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คนไข้ที่สนใจเข้ารับการผ่าตัดขากรรไกรควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมและวางแผนการรักษา
ขั้นตอนการผ่าตัดขากรรไกร
ขั้นตอนการผ่าตัดขากรรไกรสามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดขากรรไกร
- ปรึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับความต้องการและความคาดหวังของคนไข้ รวมถึงประเด็นที่ต้องการแก้ไขในการผ่าตัดนี้
- ตรวจสุขภาพเพราะการผ่าขากรรไกรเป็นการผ่าตัดใหญ่ มีดมยาสลบ บอกโรคประจำตัว ยาที่ใช้ให้ครบถ้วน หากคนไข้เป็นเบาหวาน ความดัน ธาลัสซีเมีย สามารถผ่าตัดได้ แต่ต้องควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมที่จะผ่าตัด หากยังไม่เหมาะสมก็ต้องรักษาโรคประจำตัวให้ดีก่อน
- ทันตแพทย์ทำการตรวจวิเคราะห์โครงสร้างหน้า ใบหน้า รอยยิ้ม การกลืน การพูดออกเสียงของคนไข้
- X-ray พิมพ์ฟัน เพื่อประกอบแผนการรักษา
- เคลียร์ช่องปาก ขั้นตอนนี้อาจรวมถึงการขูดหินปูน, การอุดฟันผุ, การถอนฟันเพื่อการจัดฟัน, และการถอนฟันคุด
- การจัดฟันก่อนผ่าตัดประมาณ 1-1.5 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกรณี การจัดฟันมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ฟันเข้ากับกระดูกขากรรไกรได้ดีขึ้น ในกรณีคนไข้ที่มีคางยื่น การจัดฟันอาจทำให้ฟันล่างยื่นตามคางได้ ซึ่งอาจทำให้ลักษณะภายนอกดูแย่ลงกว่าก่อนจัดฟันชั่วคราว
การผ่าตัด
หลังจากจัดฟันช่วงแรกเสร็จแล้วจะถึงขั้นตอนการผ่าตัด การผ่าตัดขากรรไกรเป็นการผ่าตัดใหญ่ ที่ต้องทำในโรงพยาบาลและมีการดมยาสลบ การผ่าตัดจะกระทำผ่านทางช่องปาก ดังนั้นจึงไม่มีแผลบริเวณใบหน้า คาง หรือรอบริมฝีปาก ยกเว้นบางกรณีอาจจำเป็นต้องมีแผลขนาดเล็กนอกช่องปาก
- การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 2-6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความยากง่าย ความซับซ้อนของการผ่าตัด
- ทันตแพทย์จะผ่าตัดเปิดเหงือกด้านในเพื่อเข้าถึงกระดูกขากรรไกร
- ทันตแพทย์ทำการตัดและเลื่อนกระดูกขากรรไกรไปยังตำแหน่งที่วางแผนไว้
- ทันตแพทย์จะยึดกระดูกขากรรไกรด้วยแผ่นโลหะยึดกระดูกหรือสกรูขนาดเล็ก โดยโลหะยึดกระดูกจะมีขนาดเล็กและสามารถเชื่อมสมานกับเนื้อกระดูกได้เมื่อเวลาผ่านไป
- ในบางกรณีทันตแพทย์อาจมีการผ่าตัดมุมกรามหรือคางไปพร้อมกันเพื่อความสวยงาม แต่จะแจ้งให้คนไข้ทราบก่อนการผ่าตัด และมีการปรึกษาร่วมกันเพื่อให้คนไข้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
การพักฟื้นหลังการผ่าตัด
หลังผ่าตัดกรามคนไข้จะต้องมีการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน แล้วจึงกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน คนไข้จะต้องรับประทานอาหารอ่อนหรือเหลวในช่วงแรก และมาพบทันตแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษา
หลังจากการผ่าตัดเสร็จแล้ว จะเห็นว่าคนไข้มีรูปหน้าที่ดีขึ้น แม้จะยังไม่ได้จัดฟันขั้นสุดท้าย
การจัดฟันขั้นสุดท้ายจะเป็นการเก็บรายละเอียดให้สวยงาม โดยใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี รวมระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบของการผ่าตัดขากรรไกรแล้วประมาณ 3 ปี
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดขากรรไกร
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดขากรรไกร ได้แก่
- ปวดแผลผ่าตัดซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด อาการปวดจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด คนไข้สามารถรับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการปวด
- บวมบริเวณใบหน้า อาการบวมจะค่อยๆ ลดลงภายใน 1-2 เดือนหลังการผ่าตัด คนไข้สามารถประคบเย็นบริเวณใบหน้าเพื่อบรรเทาอาการบวมได้
- ชาที่ใบหน้า โดยอาการชาอาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ผ่าตัดและปริมาณเนื้อเยื่อประสาทที่ถูกทำลาย คนไข้ควรพบแพทย์หากอาการชาไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้น
- มีปัญหาในการพูด อาการนี้อาจเกิดจากความเจ็บปวดหรือบวมบริเวณใบหน้า หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของกระดูกขากรรไกร
- มีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร โดยปัญหานี้อาจเกิดจากความเจ็บปวดหรือบวมบริเวณใบหน้า หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรก็ได้ คนไข้ควรรับประทานอาหารอ่อนในช่วงแรก
ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่:
- การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
- เลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด
- กระดูกขากรรไกรแตกหรือเคลื่อน
- เส้นประสาทถูกทำลาย
- เกิดถุงน้ำบริเวณแผลผ่าตัด
อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงเหล่านี้พบน้อย และสามารถรักษาให้หายได้
ผ่าตัดขากรรไกร ราคาเท่าไหร่
รายการ | ราคา (บาท) |
ผ่าตัดกระดูกขากรรไกร x 1 (บน หรือ ล่าง) | 150,000 |
ผ่าตัดกระดูกขากรรไกร x 2 (ทั้งบน-ล่าง) | 250,000 |
ผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ก่อนจัดฟัน (ไม่สามารถทำได้ทุกเคส) | คิดเพิ่ม 20,000 บาท |
หมายเหตุ กรุณาสอบถามราคากับทันตแพทย์อีกครั้ง
รีวิวผ่าตัดขากรรไกร
ขากรรไกรล่างยื่น ไม่ผ่าตัดได้หรือไม่
ในกรณีที่ขากรรไกรล่างยื่นเยอะ ควรจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด หากไม่จัดฟันร่วมกับการผ่าตัด อาจจะมีฟันงุ้ม ยิ้มเห็นเหงือก หรือรากฟันโผล่ได้ แต่หากคางยื่นเล็กน้อยการจัดฟันอาจช่วยได้บ้างโดยที่ไม่ต้องผ่าตัดก็เป็นไปได้
เราสามารถดูได้ด้วยตัวเองเบื้องต้นว่าฟันล่างยื่นคร่อมฟันบนแบบไหนไม่ต้องผ่าตัดได้ 3 วิธีดังนี้
- ดูว่าฟันเขี้ยวด้านข้างสามารถสบฟันได้ปกติ มีเพียงฟันบนด้านหน้าประมาณ 1-3 ซี่ที่ถูกฟันล่างคร่อมหรือไม่ ถ้าใช่ สามารถจัดฟันอย่างเดียวได้ ไม่ต้องผ่าตัด
- ลองขยับคางและฟันล่างถอยไปข้างหลัง แล้วดูว่าสามารถสบฟันหน้ากับฟันบนได้หรือไม่ ถ้าสามารถทำได้ ก็สามารถจัดฟันอย่างเดียวได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
- อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถทำ 2 ข้อด้านบนได้ ต้องทำการ X-ray เพื่อดูความยาวคาง หากความยาวคางมีค่าไม่เกินค่าปกติ ก็สามารถจัดฟันได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
การผ่าตัดขากรรไกรมีกี่แบบ
ในปัจจุบัน การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร มี 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
จัดฟันก่อนผ่าตัดขากรรไกร – Conventional Orthognathic surgery
วิธีนี้ คนไข้จะต้องเริ่มจัดฟันก่อนการผ่าขากรรไกร โดยใช้เวลาประมาณ 1-1.5 ปี เพื่อปรับตำแหน่งฟันให้เรียงตัวดีขึ้น แต่ยังเป็นการเรียงตัวที่ดีบนขากรรไกรที่ผิดปกติ หลังจากนั้นจะทำการผ่าขากรรไกรตามแผนการรักษาที่วางแผนไว้
เสร็จแล้วคนไข้จะต้องพักฟื้นประมาณ 3-5 วัน และจัดฟันต่ออีกเพื่อเก็บรายละเอียด รวมระยะเวลาในการรักษาทั้งหมดประมาณ 3 ปี
ข้อดีของวิธีนี้ คือ ทันตแพทย์สามารถประเมินตำแหน่งฟันหลังการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และสามารถวางแผนการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ฟันสบกันได้อย่างสมบูรณ์
ผ่าตัดขากรรไกรก่อน – Surgery first
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมิน จำลองตำแหน่งฟันหลังผ่าตัดได้แม่นยำขึ้น ทำให้สามารถผ่าตัดก่อนการจัดฟันได้ และเมื่อทำการผ่าตัดร่วมกับการจัดฟันแล้วตำแหน่งฟันจะอยู่ตามที่ต้องการพอดี อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน
ข้อดีของวิธีนี้ คือ คนไข้สามารถเห็นผลลัพธ์ของการผ่าตัดได้ทันทีหลังการผ่าตัด ซึ่งอาจช่วยให้คนไข้มีกำลังใจในการรักษามากขึ้น
การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรมีผลดีอย่างไร
การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรมีผลดีสำหรับคนไข้ที่มีความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและฟัน ดังนี้
- การสบฟัน การบดเคี้ยวดีขึ้น – การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรช่วยให้ฟันสบกันได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้การบดเคี้ยวอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเหงือกและฟัน
- รูปหน้ามีความสมส่วนสวยงามขึ้น – การผ่าตัดขากรรไกรช่วยให้รูปหน้ามีความสมส่วนสวยงามมากขึ้น ช่วยลดปัญหาความผิดปกติของใบหน้า เช่น คางยื่น คางถอย ใบหน้าเบี้ยว
- คุณภาพชีวิตดีขึ้น – คนไข้ที่มีปัญหาความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและฟันอาจประสบปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก การสบฟัน การบดเคี้ยว การพูด การหายใจ และรูปหน้าที่ไม่สมส่วน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ เช่น การทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์ และการเข้าสังคม การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้