ฟันงุ้ม (Retroclined teeth) คือลักษณะของฟันที่มีความเอียงหรืองุ้มเข้าด้านในมากกว่าปกติ โดยปกติแล้วฟันของคนเราจะทำมุมประมาณ 100 องศากับแนวตั้งของใบหน้า ซึ่งเป็นมุมป้านที่ทำให้ฟันยื่นออกมาเล็กน้อยจากแนวดิ่ง แต่ในคนที่มีภาวะฟันงุ้ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการจัดฟันหรือไม่ได้จัดฟันก็ตาม จะมีฟันที่งุ้มเข้ามาในมุมที่ต่ำกว่า 90 องศา ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีลักษณะของการเป็นคนฟันงุ้ม ซึ่งอาจส่งผลต่อการสบฟัน รูปลักษณ์ของใบหน้า และความมั่นใจในการยิ้มหรือพูดคุย
อาการฟันงุ้มมักพบร่วมกับฟันสบลึกซึ่งคืออาการเมื่อสบฟันแล้ว ฟันหน้าบนมาคร่อมฟันหน้าล่างมากกว่าปกติ
วิธีสำรวจว่าฟันเรางุ้มหรือไม่
การมีฟันงุ้ม เป็นปัญหาที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ทั้งในกลุ่มคนที่ยังไม่เคยจัดฟันและกลุ่มที่เคยจัดฟันมาแล้ว ซึ่งมักส่งผลต่อการสบฟัน และรูปใบหน้า หากคุณกำลังสงสัยว่าฟันของคุณมีลักษณะงุ้มหรือไม่ มีวิธีในการสังเกตง่ายๆ ดังนี้
- สังเกตลักษณะของฟันหน้า ให้สังเกตลักษณะของฟันหน้าบนและฟันหน้าล่าง โดยยืนตรงหน้ากระจกและยิ้มให้เห็นฟัน สังเกตดูว่าฟันหน้าของคุณมีลักษณะเอียงหรืองุ้มเข้าด้านในปากมากกว่าปกติหรือไม่ หากฟันหน้าเอียงเข้าหาด้านในจนเกือบหรือชิดกับแนวตั้งของใบหน้า แปลว่ามีภาวะฟันงุ้ม
- ลองสบฟันบนและฟันล่างเข้าหากัน แล้วดูว่าฟันหน้ามีลักษณะฟันสบลึกหรือไม่ หากฟันหน้าบนลงมาบังฟันหน้าล่างมากกว่าปกติ แปลว่ามีปัญหาการสบฟันที่เกิดจากฟันงุ้ม
- ยิ้มให้เห็นฟันแล้วใช้มือถือถ่ายรูปด้านข้างใบหน้า หากฟันหน้าของคุณเอียงเข้าหาด้านในอย่างเห็นได้ชัด แปลว่ามีภาวะฟันงุ้ม
- หากยังไม่แน่ใจ สามารถเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด เช่นอาจทำการ X-ray เพิ่มเติมเพื่อให้เห็นชัดเจนมากขึ้น
สาเหตุของฟันงุ้ม เกิดจากอะไร
ถ้าแบ่งกลุ่มคนที่มีฟันงุ้มออกเป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มคนที่ยังไม่ได้จัดฟัน และกลุ่มคนที่จัดฟันแล้ว จะสามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดฟันงุ้มได้ดังนี้
กลุ่มคนที่ยังไม่เคยจัดฟัน
1.1 ความผิดปกติของโครงสร้างขากรรไกร
ลักษณะฟันงุ้มในกลุ่มนี้มักเกิดจากโครงสร้างขากรรไกรบนที่ยื่นออกมาด้านหน้ามากเกินไป (Maxillary protrusion) ทำให้ฟันหน้าบนส่วนใหญ่มีลักษณะงุ้มลง การรักษาในกรณีนี้อาจทำได้โดยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร หรือในบางกรณีอาจใช้วิธีจัดฟันร่วมกับการปักหมุด แต่หากไม่มีการผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างขากรรไกรที่ผิดปกติ ผลการรักษาจะไม่ดี 100%
1.2 นิสัยในวัยเด็ก
ในวัยเด็ก นิสัยการดูดนิ้ว กัดเล็บหรือกัดริมฝีปากสามารถทำให้ฟันหน้างุ้มเข้าด้านในได้ เนื่องจากแรงที่กระทำกับฟันเด็กเป็นประจำ หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลให้ฟันงุ้มเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
กลุ่มคนที่เคยจัดฟันแล้ว
2.1 การสูญเสียฟันและการถอนฟันมากเกินความจำเป็น
เมื่อมีการสูญเสียฟันไป ไม่ว่าจะจากการถอนฟันหรืออุบัติเหตุ ฟันข้างเคียงมีแนวโน้มที่จะเอียงเข้าหาช่องว่างที่เกิดขึ้น หากมีการสูญเสียฟันจำนวนมากหรือมีการถอนฟันที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ฟันที่เหลืองุ้มเข้าหากันจนเกิดเป็นภาวะฟันงุ้มได้
2.2 การจัดฟันที่ไม่เหมาะสม
ในกรณีที่มีการสบฟันผิดปกติเพียงเล็กน้อย เช่น ฟันยื่นหรือซ้อนเกเล็กน้อย แต่มีการถอนฟันออกหลายซี่เกินไป เมื่อจัดฟันเสร็จอาจพบว่าฟันหน้าบนและล่างงุ้มเข้ามากเกินไป เนื่องจากมีช่องว่างมากที่ต้องเคลื่อนฟันมาปิด
ทำไมฟันงุ้มหลังการจัดฟัน
ส่วนมากเกิดจากการถอนฟันออกมากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันมากเกินไป เมื่อจัดฟันเพื่อเคลื่อนฟันไปปิดช่องว่างเหล่านี้ อาจทำให้ฟันหน้าบนและล่างเอียงลงและงุ้มเข้ามามากเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะฟันงุ้มหลังการจัดฟันได้
ในบางกรณีผู้ป่วยมีการสบฟันที่ผิดปกติเล็กน้อย เช่น ฟันยื่นหรือฟันซ้อนเกเล็กน้อยก่อนการจัดฟัน และในระหว่างการรักษาไม่ได้คำนึงถึงการแก้ไขการสบฟันที่ถูกต้องร่วมด้วย เมื่อจัดฟันเสร็จอาจพบว่าการสบฟันยังคงผิดปกติหรือแย่ลง โดยเฉพาะการสบเหลื่อมแนวดิ่งของฟันหน้าที่ลึกเกินไป ส่งผลให้ฟันงุ้มเข้ามามากขึ้นได้
ช่วงที่มีการใช้เชนดึงฟัน หากคนไข้ไม่ได้เข้ามาพบทันตแพทย์ตามกำหนด แรงดึงจากเชนดึงฟันอาจไม่เพียงพอ ทำให้ฟันงุ้มได้เช่นกัน
ข้อเสียของฟันงุ้ม
ฟันงุ้มสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ ดังนี้
- การสบฟันและการบดเคี้ยวไม่ดี เพราะเมื่อฟันงุ้มเข้าด้านในทำให้การสบฟันไม่ดีตามไปด้วย ฟันบนกับฟันล่างจะสบกันได้ไม่สนิทหรือมีอาการฟันสบลึก ส่งผลให้การกัดและเคี้ยวไม่มีประสิทธิภาพ ในระยะยาวจะทำให้โคนฟันสึก
- โครงหน้าดูไม่สมส่วน ทำให้หน้าดูแก่กว่าปกติ
- ดูแลรักษาทำความสะอาดยากกว่าปกติ เพราะมุมฟันที่งุ้มเข้าด้านใน ทำให้การแปรงฟันอย่างถูกต้องทำได้ยากขึ้น มีโอกาสเกิดฟันผุ หินปูน และโรคเหงือกได้มากกว่า
- การออกเสียงคำพูดบางคำจะไม่ชัด
ในหลายๆ เคสคนที่มีฟันงุ้มหรือฟันสบลึก มักส่งผลถึงข้อต่อขากรรไกร อาจมีอาการปวดที่บริเวณหน้าหู มีเสียงคลิ๊กๆ เวลาอ้าปาก ปวดกราม หากเป็นมากก็จะอ้าปากไม่ได้ ปวดกรามมาก การรักษาในเคสแบบนี้จะพิจารณาเป็นเคสไป หากฟันหน้างุ้มมากๆ หน้ายุบเวลายิ้มแล้วทำให้ดูแก่อาจต้องจัดฟันใหม่พร้อมปรับมุมฟันหน้าให้ฟันไม่งุ้มและเปิดช่องใส่ฟัน แล้วจึงใส่ฟันทดแทนฟันที่ถอนออกมาเกินไปด้วย
แต่ในกรณีที่ฟันงุ้มไม่มาก ไม่จำเป็นต้องเปิดช่องใส่ฟัน อาจแค่จัดฟันใหม่พร้อมปรับมุมฟันก็เพียงพอ หรือจะแก้ไขโดยการทำวีเนียร์เป็นแผ่นแปะที่ผิวหน้าฟันเพื่อให้ฟันดูไม่งุ้มก็ได้ แต่วีเนียร์ก็จะมีข้อจำกัดหากฟันหน้างุ้มมากๆ แล้วต้องแปะวีเนียร์เพื่อให้ฟันดูตรง ฟันก็จะดูหนามากขึ้นทำให้ไม่สวยงาม นอกจากนั้นหากมีอาการสบลึก การทำวีเนียร์ก็มีโอกาสที่วีเนียร์จะแตกหักเสียหายได้ง่าย
นอกจากนี้ การใช้แรงดึงฟันที่ไม่เพียงพอ เช่น ในการจัดฟันช่วงที่ใช้เชนดึงฟัน หากคนไข้ไม่ไปพบทันตแพทย์ตามนัด แรงดึงจากเชนดึงฟันไม่มากพอก็ทำให้เกิดภาวะฟันงุ้มได้เช่นกัน
วิธีแก้ปัญหาฟันงุ้ม
การแก้ปัญหาฟันงุ้มสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละเคสดังนี้:
วีเนียร์
หากฟันงุ้มไม่มาก สามารถใช้วีเนียร์ช่วยในการทำให้ฟันดูตรงมากขึ้นไม่งุ้มเข้าไปได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีข้อจำกัด หากฟันงุ้มเยอะ แล้วติดแผ่นวีเนียร์จะทำให้ฟันดูหนา หากมีอาการฟันสบลึกร่วมด้วยวีเนียร์ก็มีโอกาสแตกสูงด้วย
จัดฟัน
การจัดฟันเป็นวิธีการหลักในการแก้ไขภาวะฟันงุ้ม โดยใช้แรงดันจากอุปกรณ์จัดฟันในการเคลื่อนฟัน เช่น จัดฟันแบบเหล็ก, จัดฟันใส เพื่อค่อยๆ เคลื่อนฟันไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม ปรับมุมและแนวฟันให้เรียงตัวสวยงาม รวมถึงแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติ การจัดฟันอาจใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของความผิดปกติในแต่ละราย
อุดฟัน
ใช้ในการบูรณะฟันที่มีการสึกหรอ เช่น ตรงบริเวณปลายฟันที่เกิดจากภาวะฟันสบลึกทำให้ปลายฟันได้รับความเสียหาย
รากฟันเทียม
ในกรณีที่ภาวะฟันงุ้มเกิดจากการสูญเสียฟันหน้าไปก่อนหน้านี้ การใส่รากฟันเทียม (Dental implant) เพื่อทดแทนฟันที่ขาดหายไป จะช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นและป้องกันไม่ให้ฟันข้างเคียงเอียงเข้าหาช่องว่าง ลดการเกิดภาวะฟันงุ้ม รวมถึงช่วยให้การจัดฟันเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน
ในกรณีที่ฟันงุ้มเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างขากรรไกร เช่น ขากรรไกรบนยื่นมากหรือขากรรไกรล่างถอยหลังมากผิดปกติ การผ่าตัดขากรรไกร (Orthognathic surgery) เพื่อปรับตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรให้สัมพันธ์กันมากขึ้น ร่วมกับการจัดฟันก่อนและหลังการผ่าตัด มักเป็นทางเลือกที่ให้ผลดีที่สุด