รักษารากฟัน คือ การรักษาทางทันตกรรมเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันและคลองรากฟันที่ติดเชื้อหรืออักเสบ พร้อมทั้งทำความสะอาดให้ปราศจากเชื้อโรค และอุดคลองรากฟันพร้อมทั้งบูรณะฟัน ให้มีความแข็งแรงสวยงามสามารถใช้งานได้ตามปกติ
ส่วนประกอบของรากฟันมีอะไรบ้าง
เคลือบฟัน Enamel
เคลือบฟัน (Enamel) คือ ส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกายมนุษย์ ประกอบจาก Hydroxyapatite มีหน้าที่ปกป้องส่วนภายในที่อ่อนแอกว่าของฟันจากแรงบดเคี้ยว เคลือบฟันนี้ไม่มีเส้นประสาทและเส้นเลือด เราจึงไม่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดจากตัวเคลือบฟันได้ นอกจากนั้นส่วนเคลือบฟันนี้ไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้เองตามธรรมชาติ และฟันที่ผุจะเริ่มจากเคลือบฟันก่อนแล้วผุเข้าไปชั้นด้านใน เคลือบฟันคือส่วนฟันที่เราเห็นเหนือเหงือก
เนื้อฟัน Dentine
เนื้อฟัน (Dentine) คือ ชั้นที่อยู่ถัดเข้าไปด้านในจากเคลือบฟันและครอบคลุมโพรงประสาทฟันไว้ มีความแข็งแรงน้อยกว่าเคลือบฟัน มีสีออกเหลืองและเป็นชั้นกำหนดสีของตัวฟัน มีความยืดหยุ่นเพื่อกระจายแรงที่รับจากการบดเคี้ยวผ่านชั้นเคลือบฟัน
มีท่อเล็กๆ ที่เรียกว่าท่อเดนไทน์ (dentinal tubules) ซึ่งอนุญาตให้สัญญาณปวดและความรู้สึกอื่นๆ ผ่านไปยังประสาทฟันได้ ดังนั้นเมื่อฟันผุลงมาถึงชั้นนี้จะรู้สึกเสียวฟัน
โพรงประสาทฟัน Pulp
โพรงประสาทฟัน (Pulp chamber) คือ ช่องว่างภายในรากฟัน ด้านในประกอบด้วย หลอดเลือดขนาดเล็ก เนื้อเยื่อเส้นประสาทฟัน (Pulp) ถือเป็นส่วนของฟันที่ยังมีชีวิต มีหน้าที่สร้างเนื้อฟัน และนำความรู้สึกของฟันไปยังสมอง เช่น ความรู้สึกเสียวฟัน ปวดฟัน เมื่อฟันผุจนถึงโพรงประสาทฟันแบคทีเรียก็จะเข้ามาทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของโพรงประสาทฟันได้
คลองรากฟัน Root canal
คลองรากฟันเป็นช่องเล็กๆ ที่ต่อเนื่องมาจากโพรงประสาทฟันไปจนถึงปลายรากฟัน มีลักษณะแคบยาว ด้านในเต็มไปด้วยเส้นเลือดและเส้นประสาท คลองรากฟันที่ฟันกรามจะมีจำนวนและความยาวที่มากกว่าฟันหน้า ทำให้การรักษารากฟันที่ฟันกรามมีราคาสูงกว่าและใช้เวลานานกว่า
ทำไมต้องรักษารากฟัน
- เพื่อรักษาฟันไว้ ฟันที่ผุลึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันที่ร้าว แตกหัก หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน และฟันที่ได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ ล้วนแล้วแต่ทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในโพรงประสาทฟันและทำให้เกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน หากไม่รักษารากฟัน เชื้อโรคจะลุกลามไปยังกระดูกขากรรไกรและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ ซึ่งอาจต้องถอนฟันซี่นั้นออกในที่สุด
- เพื่อบรรเทาอาการปวด การติดเชื้อในโพรงประสาทฟันจะทำให้เกิดอาการปวดฟัน บวม ปวดฟันเวลาเคี้ยวอาหาร หรือมีอาการเสียวฟัน การรักษารากฟันจะช่วยกำจัดเชื้อโรคและบรรเทาอาการปวดเหล่านี้
- เพื่อคงความแข็งแรงของฟัน ฟันที่รักษารากฟันแล้ว จำเป็นต้องได้รับการบูรณะด้วยครอบฟันหรือวัสดุอุดฟัน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟันและป้องกันการแตกหัก
- เพื่อเก็บฟันธรรมชาติไว้ ไม่ต้องทำฟันปลอม สะพานฟัน หรือรากฟันเทียม
สาเหตุของการติดเชื้อที่คลองรากฟัน
การติดเชื้อที่คลองรากฟันเกิดจากเชื้อโรคที่หลุดเข้าไปในคลองรากฟัน ซึ่งโดยปกติแล้วคลองรากฟันจะไม่ได้มีช่องทางเปิดออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกแต่จะถูกป้องกันด้วยเนื้อเยื่อแข็งแรงรอบๆ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อที่คลองรากฟันอาจเกิดขึ้นได้จากกรณีต่อไปนี้:
- ฟันผุลึกเข้าไปถึงเนื้อฟันหรือคลองรากฟัน เชื้อโรคสามารถเข้าสู่คลองรากฟันและทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- ฟันแตกหรือหักจนถึงคลองรากฟัน เชื้อโรคสามารถเข้าไปในคลองรากฟันได้
- ฟันสึกมากจากการใช้งานหรือการสบฟันที่ไม่ถูกต้อง เช่น นอนกัดฟัน
- โรคเหงือกอักเสบหรือเหงือกร่น อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่คลองรากฟันง่ายขึ้น
หนองปลายรากฟัน เกิดขึ้นได้อย่างไร
หนองปลายรากฟัน หรือ Periapical abscess คือการติดเชื้อที่ปลายรากของฟัน ซึ่งเกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียจากฟันที่ผุลึกไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ รากฟัน มักเกิดจากการที่ฟันผุไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และมีการสะสมของแบคทีเรียจนถึงปลายราก สิ่งนี้ทำให้เกิดการอักเสบและมีหนอง อาการที่พบบ่อยคือ ปวดมาก บวม บริเวณที่ติดเชื้อร้อนขึ้น
การรักษาจะไม่สามารถทำการอุดฟันได้อย่างเดียว ต้องรักษารากฟันให้เสร็จสิ้นก่อน
อาการที่บ่งบอกว่าต้องรักษารากฟัน
อาการที่บ่งบอกว่าต้องรักษารากฟัน ได้แก่
- ปวดฟัน อาจเป็นปวดแบบเป็นๆหายๆ หรือปวดรุนแรงจนนอนไม่หลับ หรือทำให้ต้องตื่นเนื่องจากปวดฟันมาก ปวดมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น หรือปวดเวลาเคี้ยวอาหาร
- เสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น หรือเสียวฟันเวลาเคี้ยวอาหาร
- เหงือกบวม บริเวณรากฟันซี่นั้นๆ ถ้ามีการอักเสบมากๆ อาจทำให้หน้าบริเวณรากฟันนั้น เริ่มมีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด
- ฟันเปลี่ยนสี เป็นดำ หรือคล้ำขึ้น มักมีประวัติเคยหกล้ม กระแทก หรือ ฟันมักบิ่นแตก ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อการติดเชื้อรุนแรงขึ้น อาการเหล่านี้จะหายไปชั่วคราวเพราะเส้นประสาทในโพรงประสาทและคลองรากฟันตาย ทำให้คนไข้นึกว่าอาการดีขึ้นแล้ว จนกว่าการติดเชื้อจะลุกลามไปยังส่วนอื่น ซึ่งจะกลับมามีอาการปวดมากอีกครั้ง ทางที่ดีที่สุดคือรีบเข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที
ประเภทของการรักษารากฟัน
การรักษารากฟันแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่
การรักษารากฟันแบบดั้งเดิม (Conventional root canal treatment)
เป็นการรักษาด้วยวิธีแบบดั้งเดิม คือ การใช้เครื่องมือขนาดเล็กในการกรอฟันเข้าไปยังโพรงประสาทฟัน และทำความสะอาดพร้อมฆ่าเชื้อโรคภายในคลองรากฟันให้หมด ก่อนที่จะทำการอุดคลองรากฟันด้วยวัสดุอุดคลองรากฟัน (Gutta percha) โดยฟันจะไม่ถูกอุดอย่างถาวรจนกว่าจะกำจัดเชื้อออกได้หมดทั้งในโพรงประสาทและคลองรากฟัน
การผ่าตัดปลายรากฟัน (Endodontic Surgery)
เป็นวิธีรักษารากฟันที่จำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดเล็กเข้าไปที่บริเวณปลายรากฟัน เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อหรืออักเสบที่ปลายรากฟัน ซึ่งไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีปกติ การรักษารากฟันด้วยวิธีนี้อาจจำเป็นในกรณีต่อไปนี้
- การรักษารากฟันแบบปกติล้มเหลว
- โพรงประสาทฟันมีแคลเซียมมาเกาะเป็นปริมาณมากจนเครื่องมือไม่สามารถทะลวงไปถึงปลายรากฟันได้
- มีการแตกหัก หรือรอยโรคอื่นๆ ของกระดูกรอบปลายรากฟัน
การรักษารากฟันทั้งสองประเภทนี้ ต่างก็มีจุดประสงค์ในการกำจัดเชื้อโรคและเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อหรืออักเสบภายในโพรงประสาทฟัน เพื่อให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม การรักษารากฟันด้วยวิธีการผ่าตัดปลายรากฟันอาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรักษารากฟันด้วยวิธีปกติ และอาจใช้เวลาในการรักษานานกว่า
รักษารากฟัน ราคาเท่าไหร่
รายการ | ราคา (บาท) |
รักษารากฟันหน้า ( Anterior Root Canal Treatment) | 6,000-10,000 |
รักษารากฟัน กรามน้อย ( premolar Root Canal Treatment) | 8,000-12,000 |
รักษารากฟัน กรามใหญ่ ( Molar Root Canal Treatment ) | 10,000-20,000 |
รักษารากฟันในเด็ก ( dental pulp treatment for Children ) | 2,500 |
หมายเหตุ กรุณาสอบถามราคากับทันตแพทย์ที่คลินิกอีกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนรักษารากฟัน
- นัดหมายกับทันตแพทย์ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับอาการและวางแผนการรักษา ทันตแพทย์จะทำการถ่ายภาพ X-ray เพื่อประเมินระดับความเสียหายของฟัน และจะพูดคุยเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษา
- หากมีการใช้ยาประจำตัวอยู่หรือมีการแพ้ยาให้แจ้งทันตแพทย์ให้ครบถ้วน
- งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังการรักษารากฟัน อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
ขั้นตอนวิธีการรักษารากฟัน
- ทันตแพทย์จะทำการตรวจเช็คและอาจใช้ X-ray เพื่อดูระดับความเสียหายของรากฟัน
- ฉีดยาชาก่อนทำการรักษา
- ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือเจาะหลุมเล็กๆ กรอที่ฟันเพื่อเข้าถึงพื้นที่ที่เยื่อประสาทอยู่
- ทำความสะอาดและใส่ยาฆ่าเชื้อ ให้ปราศจากเชื้อโรค
- ใช้วัสดุอุดคลองรากฟัน ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ
- บูรณะฟันขึ้นมาใหม่ เช่น อุดฟัน หรือทำครอบฟัน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและสวยงาม
ในปัจจุบันวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงน้ำยาที่ใช้ในการล้างคลองรากฟัน มีการพัฒนาที่ดีขึ้นมากจากแต่ก่อน จึงทำให้หลายๆ ครั้งสามารถรักษารากฟันได้ภายในครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม คนไข้แต่ละกรณีไม่เหมือนกัน หากมีหนองหรือมีกระดูกรอบๆ รากฟันถูกทำลาย อาจต้องใส่ยาฆ่าเชื้อลงไปในคลองรากฟันแล้วปิด เพื่อให้มีการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและให้มั่นใจว่าคลองรากฟันนั้นสะอาดเพียงพอที่จะทำการอุดคลองรากฟันได้ คนไข้จึงอาจต้องรักษารากฟันมากกว่าหนึ่งครั้ง
อาการหลังการรักษารากฟัน
อาการหลังการรักษารากฟันที่พบบ่อย ได้แก่
- อาการปวด บวม ในช่วงไม่กี่วันแรกหลังการรักษาและจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายภายใน 1-2 สัปดาห์
- ฟันอาจมีการแตกหรือหัก เพราะฟันที่รักษารากฟันมักมีความแข็งแรงน้อยลง
- อาจมีการติดเชื้อซ้ำ หากทำความสะอาดไม่หมดจดหรืออุดไม่สนิท แบคทีเรียมีโอกาสเข้าไปทำให้ติดเชื้อใหม่
การรักษารากฟันเป็นการพยายามเก็บฟันไว้ให้อยู่กับเราแทนที่จะต้องถอนฟันออก หลังจากที่ฟันได้รับการรักษาจนจบสมบูรณ์แล้ว ฟันซี่นั้นอาจจะอยู่ได้อีกไม่กี่ปีหรืออยู่ได้ตลอดชีวิตก็ได้ แต่ฟันนั้นจะเป็นฟันตาย (dead tooth) เพราะเส้นประสาทรวมถึงเนื้อเยื่อภายในได้ถูกกรอเอาออกจนหมด แล้วอุดด้วยวัสดุอุด ทำให้ไม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงอีกต่อไป จึงจะมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือฟันจะสีคล้ำลง เปราะ แตกหักง่ายขึ้น ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ทำเดือยฟันร่วมกับครอบฟัน หรือทำวีเนียร์ เพื่อให้ฟันมีความสวยงามแข็งแรง
การดูแลรักษา ปฏิบัติตัวหลังรักษารากฟัน
- รอให้ยาชาหมดฤทธิ์ก่อน แล้วจึงค่อยรับประทานอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นจัด หากรีบรับประทานอาหารขณะยาชายังมีฤทธิ์ คนไข้จะไม่รู้สึกหากเคี้ยวอาหารอย่างรุนแรงบริเวณฟันที่เพิ่งทำการรักษามา นอกจากนั้นยังช่วยป้องกันการกัดลิ้นและกระพุ้งแก้มด้วย
- อาจมีอาการปวดหรือเสียวฟันบ้าง สามารถใช้ยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์ให้ได้ตามคำแนะนำ
- รับประทานอาหารอ่อนๆ ในช่วง 1-2 วันแรก
- ควรแปรงฟันและบ้วนปากให้สะอาดหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
- หากวัสดุอุดฟันชั่วคราวหลุด ให้รีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันทีเพราะหากปล่อยไว้ เชื้อโรคอาจเข้าสู่คลองรากฟันซ้ำได้
- อาการปวดตึง มักพบได้ใน 2-3 วันแรก แต่หากยังปวดไม่หายหลายวัน ควรทำนัดเพื่อพบทันตแพทย์อีกครั้ง
- มาพบทันตแพทย์ตามนัดเสมอเพื่อติดตามผลการรักษา
รักษารากฟันที่ไหนดี
- การรักษารากฟันเป็นการรักษาที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดังนั้นควรเลือกรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทางรักษาคลองรากฟัน (Endodontist)
- คลินิกหรือโรงพยาบาลควรมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อความปลอดภัยและผลการรักษาที่ดี
- สถานที่รักษาควรสะอาดและปลอดเชื้อ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค
- อ่านรีวิวจากผู้ป่วยที่เคยรับการรักษากับทันตแพทย์หรือสถานที่นั้นๆ
- หากสถานที่ทำการรักษาอยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน จะมีความสะดวกในการติดตามผลมากกว่า
คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการรักษารากฟัน
รักษารากฟันเจ็บไหม
ระหว่างทำการรักษารากฟันทันตแพทย์จะมีการฉีดยาชาทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ อย่างไรก็ตามคนไข้จะมีอาการเจ็บแน่นอนหลังจากยาชาหมดฤทธิ์ และอาจจะระบมไปประมาณ 1-2 วัน ยิ่งรากฟันมีหนองหรือมีเชื้อโรคเยอะ ทันตแพทย์จะยิ่งต้องทำความสะอาดเยอะ จะทำให้ปวดมากกว่าคนที่มีเชื้อโรคน้อย
หากเกินระยะเวลา 1 อาทิตย์แล้วยังปวดหรือมีอาการบวมอักเสบ ให้รีบกลับมาปรึกษาทันตแพทย์
รักษารากฟันแล้วยังเจ็บอยู่
ในบางครั้งการใช้เครื่องมือเพื่อกรอเอาเนื้อเยื่อและเชื้อโรคออกอาจมีการกระทบกระเทือนมาก ทำให้รู้สึกเจ็บหลังทำ คนไข้สามารถทานยาแก้ปวดได้ตามที่ทันตแพทย์สั่ง นอกจากนั้นบางกรณีอาจเป็นไปได้ว่ายังมีคลองรากฟันเล็กๆ ที่การ X-ray มองไม่เห็น ต้องใช้ CT scan เพื่อตรวจ คลองรากฟันเล็กๆ เหล่านี้อาจยังไม่ได้รับการรักษา ทำให้ยังรู้สึกเจ็บอยู่ อาจต้องพบหมอที่เชี่ยวชาญมากขึ้นเพื่อให้มารักษาคลองรากฟันเล็กแทน เพื่อให้เราบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น และไม่ต้องถอนฟัน
รักษารากฟันต้องทำกี่ครั้ง
สมัยก่อนการรักษารากฟันอาจต้องทำหลายที แต่ในปัจจุบันวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงน้ำยาที่ใช้ในการล้างคลองรากฟัน พัฒนาขึ้น ทำให้ทันตแพทย์ทำงานสะดวกขึ้น และสามารถทำเสร็จภายในครั้งเดียวได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกรณีที่จะรักษารากฟันได้ในครั้งเดียว ต้องดูสภาพฟันและเหงือกของคนไข้ เช่น หากมีหนอง มีการทำลายกระดูกรอบๆ รากฟัน กรณีเหล่านี้อาจจะต้องใส่ยาฆ่าเชื้อลงไปในคลองรากฟันแล้วปิด เพื่อให้มีการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและให้มั่นใจว่าคลองรากฟันนั้นสะอาดเพียงพอที่จะทำการอุดคลองรากฟันได้
รักษารากฟันใช้เวลากี่นาที ใช้เวลากี่วันเสร็จ
การรักษารากฟัน (Root Canal Treatment) อาจใช้เวลาต่างกันไปขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการรักษาและสภาพของฟันที่ต้องรักษา โดยทั่วไปแล้ว การรักษารากฟันอาจใช้เวลาประมาณ 30-90 นาทีต่อครั้ง และอาจต้องทำหลายครั้งในบางกรณี
หากต้องรักษาหลายครั้งทันตแพทย์จะนัดหมายให้ห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อดูอาการเป็นระยะและให้มั่นใจว่าการอักเสบลดลง
รักษารากฟัน กับ ถอนฟัน แบบไหนดีกว่ากัน
การเลือกระหว่างการรักษารากฟันกับถอนฟันนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของฟันและแนวทางการรักษาที่ทันตแพทย์แนะนำ ข้อดีของการรักษารากฟันคือ ฟันตามธรรมชาติจะยังอยู่กับคนไข้ ลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุรอบๆ ฟันอื่น ข้อเสียคือ ราคาแพงกว่า และอาจต้องรักษาหลายครั้ง ถอนฟันมีข้อดีคือ ใช้ระยะเวลาในการทำสั้นและราคาถูกกว่า แต่ข้อเสียคือ ต้องใส่ฟันปลอมมาทดแทนฟันซี่ที่สูญเสียไป หากไม่ทำฟันปลอมขึ้นมาทดแทนอาจทำให้ฟันซี่ข้างเคียงล้มหรือเกได้
จัดฟันอยู่ รักษารากฟันได้ไหม
ได้ แต่ว่าจะต้องหยุดการเคลื่อนฟันก่อน โดยไม่ต้องถอดเครื่องมือจัดฟันออก แล้วทำการรักษารากฟันให้เสร็จก่อนจึงค่อยกลับมาจัดฟันให้เสร็จ ดังนั้นจะใช้เวลาในการจัดฟันนานขึ้น
ถอนฟันทิ้ง แทนการรักษารากฟันดีกว่าไหม
คำตอบขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สภาพฟัน ตำแหน่งฟัน และสุขภาพโดยรวมของคนไข้รวมถึงความสะดวกในการดูแลรักษา
ข้อดีของการรักษารากฟันคือ เก็บรักษาฟันธรรมชาติไว้ได้ ช่วยบดเคี้ยวอาหารตามปกติ และลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุรอบๆ แต่ข้อเสียคือ ใช้เวลาในการรักษาหลายครั้ง และมีค่าใช้จ่ายสูง
หากถอนฟันข้อดีคือ ใช้เวลาในการรักษาสั้น และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า แต่เมื่อถอนฟันออกแล้วควรทำฟันปลอมขึ้นมาทดแทนฟันที่ถอนออก
ทำไมต้องมาพบทันตแพทย์หลังจากรักษารากฟัน
- เพื่อติดตามอาการและผลการรักษา ทันตแพทย์จะตรวจดูว่าฟันที่รักษารากฟันแล้วมีอาการปวดหรือไม่ หากมีอาการปวด อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อ ฟันแตกหัก เป็นต้น
- เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของฟัน ฟันที่รักษารากฟันแล้วอาจมีเนื้อฟันเหลือน้อย ทำให้ฟันไม่แข็งแรงและอาจแตกหักได้ง่าย
- เพื่อบูรณะฟัน ฟันที่รักษารากฟันแล้วอาจจำเป็นต้องบูรณะเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับฟัน เช่น การทำเดือยฟันหรือครอบฟัน
รักษารากฟันนานไหม
โดยทั่วไปจะต้องมาทำการรักษา 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และทำห่างกันประมาณครั้งละ 1-2 อาทิตย์ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อและจำนวนคลองรากฟันที่ต้องรักษา เช่น ฟันเขี้ยวมีคลองรากแค่ 1-2 คลองราก ในขณะที่ฟันกรามมีได้ถึง 4-5 คลองราก
รักษารากฟันต้องครอบฟันไหม
โดยทั่วไปแล้ว ฟันที่รักษารากฟันแล้วจะมีเนื้อฟันเหลือน้อยลง เนื่องจากต้องกรอเนื้อฟันออกบางส่วนเพื่อทำความสะอาดและอุดคลองรากฟัน ทำให้ฟันไม่แข็งแรงและอาจแตกหักได้ง่าย ดังนั้น ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ใส่ครอบฟันเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับฟัน
ฟันที่จำเป็นต้องใส่ครอบฟันหลังรักษารากฟัน ได้แก่
- ฟันที่เนื้อฟันเหลือน้อย
- ฟันที่แตกหัก
- ฟันที่ต้องใช้สำหรับบดเคี้ยวอาหาร