เลือดออกตามไรฟันเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อย โดยสามารถสังเกตเห็นได้โดยง่ายจากการมีเลือดปนออกมาขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน ทำให้หลายคนกังวลใจและสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุใด จะเป็นอันตรายหรือไม่ และจะป้องกันแก้ไขได้อย่างไร
ในความเป็นจริงแล้ว เลือดออกตามไรฟันส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาสุขอนามัยช่องปากไม่ดี ทำให้เกิดคราบแบคทีเรียสะสมจนกลายเป็นหินปูน จึงไปกระตุ้นให้เหงือกเกิดการอักเสบและเลือดออกได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันแรงเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เป็นโรคเลือดออกผิดปกติ หรือขาดวิตามินบางชนิด เป็นต้น
แม้เลือดออกตามไรฟันจะดูเหมือนเป็นอาการเล็กน้อย แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ก็อาจลุกลามจนเหงือกอักเสบรุนแรงและกระดูกรองรับรากฟันถูกทำลายได้ในระยะยาว ดังนั้น เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติ จึงควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษา พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ และรักษาเหงือกให้แข็งแรงได้ในระยะยาว
สาเหตุของเลือดออกตามไรฟัน
- เหงือกอักเสบ (Gingivitis) ซึ่งเกิดจากการสะสมของคราบแบคทีเรียและหินปูนบริเวณไรฟันและร่องเหงือกเป็นจำนวนมาก ทำให้เหงือกเกิดการอักเสบและมีเลือดออกได้ง่ายเมื่อแปรงฟัน
- แปรงฟันแรงเกินไปหรือใช้แปรงสีฟันและไหมขัดฟันไม่ถูกวิธี เช่น ใช้แปรงขนแข็งเกินไป แปรงถูไปมาแรงๆ ใช้ไหมขัดฟันแล้วออกแรงกดมากเกินไป อาจทำให้เหงือกเป็นแผลและมีเลือดออกได้
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่มีประจำเดือน ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลให้เหงือกมีความไวต่อการอักเสบและเลือดออกได้ง่ายขึ้น
- การติดเชื้อในช่องปากบริเวณเหงือกหรือรากฟัน เช่น ฟันผุลึก ฟันติดเชื้อ ฟันแตก เป็นต้น
- ภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดแข็งตัวได้ยาก ส่งผลให้เลือดออกง่าย
- มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ไข้เลือดออก ไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น
- ภาวะขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินซี หรือวิตามินเค ทำให้เหงือกเปราะบางและเลือดออกได้ง่าย แต่พบได้น้อย คนไทยมักเข้าใจว่าตัวเองขาดวิตามินซี แต่ในความเป็นจริงคนไทยขาดวิตามินซีน้อยมาก คิดเป็นแค่ประมาณ 9.9% ของประชากรเท่านั้น
- มีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน เฮพาริน
อาการเลือดออกตามไรฟันมีอะไรบ้าง
อาการเลือดออกตามไรฟันสามารถสังเกตุได้โดยง่าย คือ
- มีเลือดติดอยู่ที่ขนแปรงสีฟันหลังจากแปรงฟันเสร็จ หรือมีเลือดปนออกมาเวลาบ้วนปาก
- เหงือกมีลักษณะบวม แดง อักเสบ หรือรู้สึกเจ็บเวลาแปรงฟัน
- มีกลิ่นปากหรือรสคาวเลือดในปากขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
- ในกรณีที่มีอาการรุนแรง เลือดอาจไหลออกมาจากเหงือกไม่หยุด แม้จะไม่ได้แปรงฟัน เช่น ตอนนอน
วิธีแก้เลือดออกตามไรฟัน
- ไปพบทันตแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม เช่น การขูดหินปูน ทำความสะอาดคราบจุลินทรีย์ เป็นต้น
- รักษาสุขอนามัยช่องปากให้ดี แปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และแปรงอย่างนุ่มนวล ไม่ควรแปรงแรงจนเกินไป
- ใช้ไหมขัดฟันที่มีขนาดพอดี ค่อยๆ สอดเข้าไปตามซอกฟันเบาๆ อย่างระมัดระวัง ไม่ควรใช้แรงกดมากจนเกินไปจนทำให้เหงือกเป็นแผล
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (ใช้น้ำอุ่น 1 แก้ว ผสมกับเกลือ 1 ช้อนช้าแล้วคนให้เข้ากัน) เพื่อลดการอักเสบของเหงือก แล้วบ้วนทิ้ง ทำวันละ 2-3 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสจัด เปรี้ยว หวานจัด แอลกอฮอล์ และบุหรี่ ซึ่งจะยิ่งระคายเคืองเหงือกที่กำลังอักเสบอยู่
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานของมีประโยชน์ มีวิตามินซี วิตามินดี และแคลเซียม เพื่อช่วยให้เหงือกและกระดูกแข็งแรง
- หากทันตแพทย์ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติในช่องปาก แต่ยังมีเลือดออกตามไรฟันอยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้ เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นต้น
การป้องกันอาการเลือดออกตามไรฟัน
- ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน หากมีโรคเหงือกอักเสบจะได้รักษาได้ไวขึ้น
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เมื่อไปพบทันตแพทย์ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วย เพราะอาจต้องเตรียมความพร้อมหรือปรับการรักษาเป็นพิเศษ
- แปรงฟันสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ แปรงอย่างนุ่มนวลทั่วทุกซี่ฟันและเหงือก ใช้เวลาแปรงอย่างน้อยครั้งละ 2 นาที
- เปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3-4 เดือน เนื่องจากขนแปรงจะแข็งขึ้นเมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่ง
- ใช้ไหมขัดฟันที่มีขนาดพอดีเพื่อกำจัดเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ตามซอกฟัน ค่อยๆ สอดไหมเข้าไประหว่างซี่ฟันและใต้ขอบเหงือกเบาๆ วันละ 1 ครั้ง
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ที่อุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินซี และวิตามินดี เพื่อบำรุงให้ฟันและเหงือกแข็งแรง เช่น ผัก ผลไม้ นม ชีส เป็นต้น
- งดสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะทำให้ฟันเหลือง ยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์อักเสบและเหงือกร่นได้ง่าย
- หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพราะจะทำให้ภูมิต้านทานลดลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องปากได้ง่าย