ฟันผุ เกิดจากอะไร มีกี่ระยะ ทำไงดี

ฟันผุ (Tooth decay) คือ การที่ฟันถูกทำลายจากแบคทีเรียในช่องปากโดยผลิตกรดจากน้ำตาลหรือแป้งที่เรารับประทานเข้าไป กรดเหล่านี้จะทำลายเคลือบฟันและส่วนที่ลึกลงไปของฟัน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวด การติดเชื้อ หรือการสูญเสียฟันซี่นั้น

สารบัญ

สาเหตุ ฟันผุเกิดจากอะไร

ฟันผุเกิดจากอะไร

ฟันผุเกิดจากการที่ฟันโดนกัดกร่อนด้วยกรดที่ทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในฟัน (Demineralize) กรดดังกล่าวนั้นเกิดจากแบคทีเรียในช่องปากที่ย่อยสลายน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มที่เรารับประทานเข้าไป (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารที่ทำให้ฟันผุ) สาเหตุหลักของฟันผุจึงมีหลายปัจจัยร่วมกันดังนี้

  • การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง – น้ำตาลคืออาหารของแบคทีเรียในช่องปาก เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะเจริญเติบโตและผลิตกรดมากขึ้น กรดเหล่านี้ก็จะทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในฟัน ทำให้ฟันสูญเสียแร่ธาตุและกลายเป็นรู
  • แปรงฟันไม่สะอาด – ทำให้คราบอาหารซึ่งเป็นแป้ง น้ำตาล ติดอยู่ เป็นอาหารของแบคทีเรียต่อไป จะสังเกตได้ว่าบริเวณหน้าฟันที่เรียบๆ เราสามารถแปรงฟันได้ง่ายดูแลได้ง่าย ฟันจึงไม่ค่อยผุบริเวณหน้าฟัน แต่ร่องฟันด้านบนโดยเฉพาะฟันกรามที่ใช้บดเคี้ยวอาหาร เศษแป้งและน้ำตาลเข้าไปแทรกอยู่ง่าย แปรงออกยาก จึงมีฟันผุที่ตำแหน่งนี้บ่อย
  • การสูบบุหรี่ทำให้น้ำลายลดลง – น้ำลายมีหน้าที่ช่วยชะล้างคราบจุลินทรีย์และกรดในช่องปาก เมื่อน้ำลายลดลง แบคทีเรียก็จะเจริญเติบโตและผลิตกรดมากขึ้น
  • สุขภาพช่องปากโดยรวมไม่ดี เช่น มีโรคเหงือกอักเสบทำให้เหงือกร่น แบคทีเรียเข้าถึงรากฟันได้ง่ายขึ้น

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกับการฟันผุด้วยซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมบางคนฟันผุง่าย ทำไมบางคนฟันผุยาก เช่น

  • ร่องฟันลึกไม่เท่ากัน ทำให้ทำความสะอาดได้ยากง่ายแตกต่างกัน
  • พันธุกรรมแตกต่างกัน บางคนเคลือบฟันแข็งแรงกว่า
  • ปริมาณน้ำลายแตกต่างกัน น้ำลายมีส่วนช่วยป้องกันฟันผุ คนไข้บางคนที่ฉายแสงบริเวณขากรรไกรจะมีฟันผุบริเวณคอฟันง่าย คุณแม่ที่มีภาวะหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงมากก็จะมีน้ำลายน้อยลง เป็นต้น

ฟันผุ 4 ระยะ อาการเป็นอย่างไร

4 stages of tooth decay

อาการของฟันผุจะแตกต่างกันไปตามระยะของความรุนแรง โดยสามารถแบ่งอาการและวิธีรักษาออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

อาการฟันผุระยะแรก (ระยะที่ 1)

เป็นระยะที่กรดเริ่มทำลายชั้นเคลือบฟัน (Enamel) ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวด แต่จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ชั้นเคลือบฟันบริเวณผิวเรียบของฟันหรือหลุมร่องฟัน โดยชั้นเคลือบฟันจะเปลี่ยนสีจากสีขาวมันวาวเป็นสีขาวขุ่นๆ หรือสีน้ำตาลจางๆ เพราะโดนกรดกัดทำลาย

วิธีรักษาฟันผุระยะแรก

สามารถทำได้ด้วยตัวเองด้วยการแปรงฟันให้สะอาดด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์, อมน้ำยาฟลูออไรด์ เพื่อช่วยในการเสริมสร้างชั้นเคลือบฟัน หรือให้ทันตแพทย์เป็นคนเคลือบฟลูออไรด์ให้ สารฟลูออไรด์จะช่วยป้องกันและเสริมสร้างแร่ธาตุที่ผิวฟันคืนมา (remineralization) ได้ในระดับหนึ่ง ยังไม่จำเป็นต้องอุดฟันก็ได้

อาการฟันผุที่ผิวเคลือบฟัน (ระยะที่ 2)

เป็นระยะที่กรดเริ่มกัดกร่อนลึกลงไปถึงชั้นเนื้อฟันทำให้เป็นรอยสีเทาดำหรือน้ำตาล เห็นรูผุ มีเศษอาหารติดอยู่ และการผุจะลุกลามไปเร็วกว่าระยะที่ 1 เนื่องจากชั้นเนื้อฟันมีความแข็งแรงน้อยกว่าชั้นเคลือบฟัน คนไข้จะเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารหวานจัด เย็นจัด หรือร้อนจัด

วิธีรักษาฟันผุที่ผิวเคลือบฟัน

รักษาด้วยการอุดฟันเพื่อปิดรูผุและป้องกันไม่ให้ฟันผุลุกลามลงลึกไปอีก การอุดฟันในระยะที่ 2 นี้มักให้ผลการรักษาที่ดี ฟันสามารถใช้งานได้ดี มีความแข็งแรงในการใช้งานบดเคี้ยว

อาการฟันผุถึงเนื้อฟัน (ระยะที่ 3)

เป็นระยะที่รุนแรงขึ้นมีการทำลายลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน มีการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวดโดยอาจจะปวดตลอดเวลาหรือปวดเป็นพักๆ รวมถึงมีเศษอาหารไปติดอยู่ในโพรงทำให้เกิดกลิ่นปากหรือปากเหม็นตามมาได้

วิธีรักษาฟันผุถึงเนื้อฟัน

ทันตแพทย์อาจทำการรักษาด้วยการอุดฟันเบื้องต้นเพื่อดูอาการก่อน หากอุดแล้วยังมีอาการปวดเกิดขึ้นแสดงว่า แม้ฟันผุจะยังไม่ทะลุถึงโพรงประสาทฟัน แต่มีการติดเชื้อแล้ว จำเป็นต้องทำการรักษารากฟันด้วย ในกรณีที่ฟันผุระยะนี้ เวลาอุดฟันอาจจะใช้วัสดุอุดมากจนทำให้เกิดอาการปวดฟันได้เนื่องจากการปรับตัวของเนื้อฟันกับวัสดุอุดฟัน อาการปวดนี้จะค่อยๆ หายไปเองในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน

อาการฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน (ระยะที่ 4)

เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันถูกทำลาย ลุกลามไปที่ปลายรากฟัน คนไข้จะมีอาการเจ็บๆ หายๆ เป็นช่วงๆ โดยเฉพาะเวลานอนราบเพราะของเหลวในโพรงประสาทฟันออกมาคั่งในคลองรากฟัน เกิดหนองที่ปลายรากฟัน มีอาการบวมหรือมีฝีทะลุมาที่เหงือก ฟันโยก และเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองของร่างกายได้

วิธีรักษาฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน

การรักษาระยะนี้สามารถทำได้ด้วยการถอนฟันหรือรักษารากฟันร่วมกับทำฟันปลอมเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป

วิธีป้องกันฟันผุ

  1. แปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธีวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
  2. ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ เพราะช่วยป้องกันฟันผุได้
  3. เวลาทานอาหารให้ทานเป็นมื้อๆ อย่าทานจุบจิบ การทานจุบจิบจะทำให้มีช่วงเวลาระหว่างวันที่เศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟันมากขึ้น
  4. พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล แป้งเหนียวๆ เยอะเพราะติดอยู่ตามซอกฟันง่ายและเอาออกยาก
  5. ไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยๆ ปีละครั้ง หากเป็นไปได้ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

วิธีสังเกตฟันผุด้วยตัวเอง

อาการของฟันผุระยะแรกอาจไม่ปรากฏให้เห็น แต่ไม่ควรละเลยเพราะหากปล่อยทิ้งไว้ฟันผุจะลุกลามจนทำให้เสียฟันได้

วิธีสังเกตฟันผุด้วยตัวเอง มีดังนี้

  • สังเกตสีของฟันว่าเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นหรือน้ำตาลหรือไม่ โดยเฉพาะด้านที่ใช้บดเคี้ยว หากเริ่มเปลี่ยนสี แสดงว่าฟันเริ่มผุ
  • มีรูหรือโพรงบนฟัน
  • มีอาการเสียวฟัน เมื่อรับประทานอาหารร้อนหรือเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียวฟันที่ตำแหน่งเดิมซ้ำๆ หรือเศษอาหารติดที่เดิมซ้ำๆ
  • ปากมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดฟันตลอดเวลา แปลว่าฟันได้ผุลึกลงไปจนถึงชั้นเนื้่อฟันหรือโพรงประสาทฟันแล้ว

คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับฟันผุ

ทำอย่างไรเมื่อตรวจเจอฟันผุ

เมื่อตรวจเจอฟันผุ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด จะได้ไม่ลุกลาม ไม่สิ้นเปลืองค่ารักษามาก การรักษาฟันผุขึ้นอยู่กับความรุนแรงของฟันผุ โดยอาจทำได้ดังนี้

  • อุดฟัน – หากฟันผุอยู่ในระยะเริ่มต้น ทันตแพทย์จะขูดเนื้อฟันที่ผุออก จากนั้นจึงอุดวัสดุอุดฟันลงไปแทนที่เนื้อฟันที่ผุ เพื่อปิดรูฟันที่ผุและป้องกันไม่ให้ฟันผุลุกลามต่อไป
  • รักษารากฟัน – หากฟันผุลุกลามไปถึงเนื้อฟันหรือโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะขูดเนื้อฟันที่ผุออกและนำเส้นประสาทและเส้นเลือดออก จากนั้นจะล้างคลองรากฟันให้สะอาดและอุดคลองรากฟันด้วยวัสดุอุดฟัน
  • ถอนฟัน – หากฟันผุรุนแรงจนไม่สามารถรักษารากฟันได้ ทันตแพทย์จะถอนฟันออกและใส่ฟันปลอมทดแทน

ฟันผุ ทำยังไงให้หายปวด

ปวดฟันผุ ทำอย่างไร

วิธีลดอาการปวดฟันเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้

  • รับประทานยาแก้ปวด แล้วรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อให้ตรวจฟัน
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ร้อนจัด เย็นจัด หวาน หรือเป็นกรดมาก เพราะอาจทำให้ปวดมากขึ้น
  • ทานอาหารอ่อนๆ ที่ไม่ต้องเคี้ยวมาก เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ฟันข้างที่ปวด
  • บ้วนปากด้วยน้ำอุ่น
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • แปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการแก้ให้หายปวดเบื้องต้น ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อดูว่าฟันผุมากขนาดไหน หากปล่อยไว้ ฟันจะผุมากยิ่งขึ้น ปวดมากขึ้น ใช้เวลารักษามากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ฟันผุระหว่างจัดฟันทำไงดี

ฟันผุระหว่างจัดฟันเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเพราะเครื่องมือจัดฟันทำให้การดูและทำความสะอาดฟันยากขึ้น แปรงฟันยากขึ้นและใช้ไหมขัดฟันยากขึ้น โอกาสฟันผุจึงมากขึ้นด้วย

หากพบว่ามีฟันผุระหว่างจัดฟันให้แจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ ทันตแพทย์ก็จะทำการถอดลวดหรือถอดเครื่องมือจัดฟันบางส่วนให้ เพื่อที่จะอุดฟันที่ผุดังกล่าวได้ถนัด แต่หากบริเวณที่ฟันผุไม่มีผลกระทบกับเครื่องมือจัดฟัน ก็ไม่จำเป็นต้องถอดเครื่องมือจัดฟัน สามารถอุดฟันได้เลย

ฟันผุถึงโพรงประสาทฟัน อุดได้ไหม

หากฟันผุถึงโพรงประสาทฟันแล้วจะไม่สามารถอุดฟันได้ จะต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

  1. รักษารากฟัน – ทันตแพทย์จะขูดเนื้อฟันที่ผุออกให้หมด จากนั้นจะล้างคลองรากฟันและอุดคลองรากฟันด้วยวัสดุอุดฟัน
  2. ถอนฟัน – ในกรณีที่ฟันตายหรือไม่สามารถรักษารากฟันได้ ทันตแพทย์จะถอนฟันซี่นั้นออกและใส่ฟันปลอมทดแทน

ฟันผุ มีกลิ่นปากเหม็น ทําไงดี

ฟันผุร่วมกับกลิ่นปากเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เนื่องจากฟันผุทำให้เกิดรูบนผิวฟัน ซึ่งรูฟันเหล่านี้เป็นแหล่งสะสมของเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์

เศษอาหารและคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะเป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรีย ซึ่งจะผลิตกรดและสารอื่นๆ ที่ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

นอกจากนี้ ฟันผุยังทำให้เหงือกอักเสบ ซึ่งเหงือกอักเสบก็อาจทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นได้เช่นกัน

หากพบว่าฟันผุร่วมกับกลิ่นปาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาฟันผุ โดยทันตแพทย์อาจทำการอุดฟันหรือรักษารากฟัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของฟันผุ

ฟันผุ เหงือกบวม ทำไงดี

ฟันผุ เหงือกบวม แก้ไขอย่างไร

อาการฟันผุ เหงือกบวม มักเกิดจากคราบจุลินทรีย์สะสมบนผิวฟันเป็นเวลานาน ส่งผลให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและผลิตกรดทำลายเนื้อฟันและเหงือก เมื่อฟันผุลุกลามไปถึงเนื้อฟันหรือโพรงประสาทฟัน จะทำให้เหงือกอักเสบและบวมแดงได้

หากพบว่ามีอาการฟันผุ เหงือกบวม ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยทันตแพทย์อาจทำการอุดฟันหรือรักษารากฟัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของฟันผุ

นอกจากการรักษาจากทันตแพทย์แล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยลดอาการปวดและบวมได้ เช่น

  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ – น้ำเกลือสามารถบรรเทาอาการเหงือกบวมและความเจ็บปวดได้
  • ทานยาแก้อักเสบ
  • แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างอ่อนโยนเพื่อไม่ให้ระคายเคืองบริเวณที่บวมเพิ่มขึ้น

X-ray ฟันผุ ราคาเท่าไหร่

รายการ ราคา (บาท)
เอ็กซเรย์ฟัน ( Tooth X-ray ) 200

บทความนี้ตรวจสอบโดย

ทพ. อดิศร หาญวรวงศ์

Adisorn Hanworawong

ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master in Implant Dentistry (gIDE/UCLA CA. USA.)
วท.ม. สาขาวิทยาการแพทย์ (วิศวกรรมเนื้อเยื่อ)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศนียบัตร อบรมหลักสูตรจัดฟัน Fellowship of Indian Academy of Orthodontics
Invisalign Cert., Invisalign provider

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้เหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์และใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเนื้อหา บริการ และการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับคุณ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกและจะถูกเก็บเป็นความลับ

บันทึกการตั้งค่า