ถอนฟัน คือ กระบวนการนำเอาฟันออกจากกระดูกเบ้าฟันเนื่องจากไม่สามารถทำการรักษาได้หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตสาเหตุของการถอนฟันมีได้หลายประการ เช่น
- ฟันผุมากจนถึงชั้นโพรงประสาทฟันไม่สามารถบูรณะได้
- ฟันที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบแบบรุนแรง(Advanced periodontal disease) สามารถทำให้ฟันหลุดหรือคลายจนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
- ฟันที่มีปัญหากับตำแหน่งและการขึ้นของฟัน เช่น ฟันคุด ฟันชน ฟันเกิน
- การจัดฟันบางครั้งอาจต้องถอนฟันบางซี่เพื่อสร้างพื้นที่ในการจัดฟัน
- ฟันที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุอาจต้องถูกถอนออก
การเตรียมตัวก่อนการถอนฟัน
- แจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ยาที่แพ้ ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ทันตแพทย์ทราบ
- หากรับประทานยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้า เช่น แอสไพริน วาฟาริน ให้แจ้งทันตแพทย์เช่นกัน
- หากมีโรคประจำตัว ให้รับประทานยามาตามปกติ รับประทานอาหารมาตามปกติ
ขั้นตอนการถอนฟัน
- ทันตแพทย์จะตรวจสอบฟันและเหงือก เพื่อประเมินสภาพก่อนถอนฟัน และวางแผนการรักษา รวมถึงอาจถ่าย X-ray เพื่อดูโครงสร้างของกรามและฟัน
- ทันตแพทย์ฉีดยาชาบริเวณรอบๆ ฟันที่จะถอน รอประมาณ 5-10 นาที และทดสอบว่ายาชาออกฤทธิ์จึงค่อยดำเนินการต่อ
- ถอนฟันออกตามที่กำหนดไว้ หากเป็นเคสที่ยากหรือซับซ้อน อาจต้องใช้เครื่องกรอฟันสำหรับผ่าตัดร่วมด้วย
- หลังจากถอนฟันออกแล้ว ทันตแพทย์จะให้กัดผ้าก๊อซเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหล โดยให้กัดผ้าก๊อซประมาณ 1-2 ชั่วโมง
- ทันตแพทย์ให้ยาแก้ปวด อาจให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
- ทันตแพทย์ให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติรวมถึงการดูแลรักษาหลังถอนฟัน
การดูแลหลังถอนฟัน
- หลังถอนฟันเสร็จให้กัดผ้าก๊อซนาน 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดแข็งตัว ระหว่างนั้นสามารถกลืนน้ำลายได้ปกติ
- นำน้ำแข็งมาประคบที่แก้ม โดยประคบ 20-30 นาที ทำเป็นช่วงๆ ใน 24-48 ชั่วโมงแรกหลังการถอนฟัน
- พยายามอย่ายุ่งกับบริเวณแผล ไม่ว่าจะเป็นเอาลิ้นไปดุนดัน เพราะจะทำให้แผลปิดไม่สนิทหรือหายช้าลง
- รับประทานอาหารอ่อนๆ และบ้วนน้ำเบาๆ ใน 3 วันแรก
- ห้ามออกกำลังกายภายใน 24 ชั่วโมง เพราะมีโอกาสทำให้เลือดไหลไม่หยุด ในผู้มีภาวะเสี่ยงเลือดออก ควรงดออกกำลังกาย 5-7 วัน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด
- รับประทานยาแก้ปวดหลังถอนฟันประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก่อนที่ยาชาจะหมดฤทธิ์ เพื่อบรรเทาอาการปวด
- แปรงฟันได้ตามปกติ แต่ให้ระวังบริเวณแผลที่ถอนฟัน
- ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์
- หลังจากนั้นทันตแพทย์จะนัดมาตัดไหมภายใน 5-7 วัน
- หลังตัดไหมหากยังรู้สึกมีเลือดออกเยอะ หรือมีอะไรผิดปกติ ให้ปรึกษาทันตแพทย์ทันที
วิธีบรรเทาอาการปวดหลังถอนฟัน
- รับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
- ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม วางบนแก้มบริเวณใกล้ที่ถอนฟัน ทำเป็นช่วงๆ ช่วงละ 20-30 นาที
- พยายามอย่าใช้ลิ้นหรือสิ่งอื่นใดไปดุนดันแผล เพราะจะทำให้แผลหายช้า
- พักผ่อนให้เพียงพอ
ใครบ้างที่ถอนฟันไม่ได้
โดยทั่วไป ทุกคนสามารถถอนฟันได้ แต่อาจมีคนบางกลุ่มที่อาจต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ดังนี้
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคเลือดออกง่าย โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องปรึกษาทันตแพทย์ก่อนวางแผนถอนฟัน
- คนที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น คนกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องหยุดรับประทานยาก่อนถอนฟัน
- คนที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยรังสีหรือเคมีบำบัด คนกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องเลื่อนการถอนฟันออกไปจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา
- คนที่มีอาการบวม หรือติดเชื้อบริเวณใบหน้า คนกลุ่มนี้ควรรักษาอาการให้หายดีก่อนถอนฟัน
นอกจากนี้ ทันตแพทย์อาจพิจารณางดถอนฟันในกรณีที่ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการถอน เช่น ฟันคุดหรือฟันที่แตกหักมาก ๆ
หากผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งข้างต้น ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนถอนฟัน เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ: โรคที่ห้ามถอนฟัน
ถอนฟันราคาเท่าไหร่
รายการ | ราคา (บาท) |
ถอนฟัน (Tooth Extraction) | 900 |
ถอนฟันแบบผ่าฟัน ( Complicated tooth Extraction) | 1,500 |
ถอนฟัน เลือดไหลไม่หยุด
หากหลังจากกัดผ้าก๊อซมาแล้วเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แต่พอคายผ้าออกแล้วพบว่ายังมีเลือดไหลอยู่ ให้กัดผ้าก๊อซต่ออีก 2 ชั่วโมง พยายามกลืนน้ำลายและเลือดเพื่อให้ผ้าก๊อซไม่ชุ่มน้ำลายจนเกินไป เพราะจะทำให้เลือดแข็งตัวยาก หลังจากนั้นแล้วคายผ้าก๊อซออกมาดูเพื่อประเมินอีกครั้ง หากเลือดยังไหลไม่หยุด หรือมีเลือดซึมตลอดเวลาติดต่อกันไม่หยุด ให้รีบกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการถอนฟัน
ถอนฟัน ห้ามกินอะไร
ภายหลังจากการถอนฟัน ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้แผลหายดี โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้ เนื่องจากอาจทำให้แผลหายช้าลงหรือเกิดการอักเสบได้
- อาหารแข็งหรือเหนียว เช่น เนื้อสัตว์ติดกระดูก ถั่วเปลือกแข็ง ข้าวโพด แครอท เป็นต้น อาหารเหล่านี้อาจทำให้แผลหายช้าลง เนื่องจากเวลากัดต้องใช้แรงมากอาจทำให้แผลเปิดหรือเลือดออกได้
- อาหารรสจัด เช่น อาหารรสเผ็ด อาหารรสเปรี้ยว อาหารรสเค็มจัด อาหารเหล่านี้อาจทำให้แผลเกิดการระคายเคืองได้
- อาหารร้อนจัด เช่น อาหารต้ม อาหารผัด อาหารทอด อาหารเหล่านี้อาจทำให้แผลเกิดการระคายเคืองได้
ถอนฟัน กินข้าวได้ตอนไหน
คนไข้สามารถกินข้าวได้หลังจากที่กัดผ้าก๊อซห้ามเลือดจนเลือดหยุดไหลแล้ว โดยปกติใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยต้องรับประทานอาหารที่อ่อนเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เคี้ยวแรง เพราะจะทำให้แผลกลับมาเปิดได้
ถอนฟัน กินอะไรได้บ้าง
หากเพิ่งถอนฟัน และอยากให้แผลหายเร็ว ควรกินอาหารอ่อนๆ ตัวอย่างอาหารอ่อน ๆ ที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ ได้แก่
- โจ๊ก
- ข้าวต้ม
- ซุป
- ไข่ตุ๋น
- โยเกิร์ต
- นม
- น้ำผลไม้
- อาหารบด เป็นต้น
ถอนฟัน เจ็บไหม
การถอนฟันธรรมดา จะเจ็บเล็กน้อยแค่ตอนที่ฉีดยาชา ตอนถอนฟันยาชาจะออกฤทธิ์แล้วทำให้ไม่เจ็บ แต่หลังจากยาชาหมดฤทธิ์จะมีความรู้สึกปวดบ้างแต่สามารถทนได้
หากเป็นการถอนฟันคุด จะเจ็บกว่าเพราะโดยมากฟันจะอยู่ลึกรวมถึงอาจต้องตัดเหงือกหรือกระดูกบางส่วนเพื่อให้ถอนฟันออกได้ ควรกินยาแก้ปวดเป็นช่วงๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด
แผลถอนฟันเป็นหนอง
การเป็นหนองหลังการถอนฟันเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ อาการของการเกิดหนองบริเวณแผลถอนฟัน เช่น ปวด แสบ บวม แดง อาจมีหนองไหลออกมาและอาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การดูแลรักษาแผลไม่ดี ทำให้แผลไม่สะอาด
- มีเศษอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมอุดตันในแผล
- ภูมิคุ้มกันต่ำ
ควรรีบมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเพราะอาจทำให้การติดเชื้อลุกลามได้
ถอนฟันแล้ว ปวด ตุบๆ
อาการปวดตุบๆ บริเวณแผลถอนฟันเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้และพบได้บ่อย เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ แผลเกิดการฉีกขาดและอักเสบ อาการปวดมักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกหลังถอนฟัน และจะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากนั้น
หากอาการปวดตุบๆ บริเวณแผลถอนฟันไม่รุนแรง อาจบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด แต่หากอาการปวดตุบๆ บริเวณแผลถอนฟันรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น บวม แดง ร้อน หรือมีหนองไหลออกมาจากแผล ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว
ถอนฟันกรามกี่วันหายปวด
โดยปกติแล้ว การถอนฟันกรามจะมีอาการปวดประมาณ 2-3 วันหลังถอนฟัน โดยอาการปวดจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ หลังจากนั้นอาการปวดจะลดลงเหลือเพียงอาการตึงๆ บริเวณแผลถอนฟัน ซึ่งอาจยังคงมีอาการอยู่บ้างประมาณ 1-2 สัปดาห์ และอาการจะหายไปเองในที่สุด
อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังถอนฟันอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออาการปวดหลังถอนฟัน ได้แก่
- ตำแหน่งของฟันที่ถอน ฟันกรามที่อยู่ลึกในปากหรือฟันที่มีปัญหา เช่น ฟันผุมาก ฟันแตก ฟันคุด อาจมีอาการปวดมากกว่าฟันกรามปกติ
- ฟันกรามที่ต้องกรอกระดูกหรือต้องผ่าตัดอาจมีอาการปวดมากกว่าฟันกรามปกติ
- สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
หากมีอาการปวดหลังถอนฟันมากหรือปวดต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่
นอกจากอาการปวดแล้ว ผู้ป่วยที่ถอนฟันกรามอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น บวมบริเวณแผลถอนฟัน เลือดไหลซึมจากแผลถอนฟัน เหงือกอักเสบ ระคายเคืองบริเวณแผลถอนฟัน เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเองตามธรรมชาติ
ยาชาถอนฟันออกฤทธิ์กี่ชั่วโมง
ยาชาที่ใช้สำหรับการถอนฟันมักจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาทีหลังจากการฉีด และจะออกฤทธิ์ที่บริเวณที่ถูกฉีดยาชาต่อเนื่องได้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประเภทของยาชาและปริมาณที่ใช้ ทั้งนี้ การฉีดยาชาในฟันล่าง ผู้ป่วยจะรู้สึกชานานและชาเป็นบริเวณกว้างกว่าการฉีดยาชาในฟันบน
ทำไมจัดฟันต้องถอนฟัน ไม่ถอนได้ไหม
การจัดฟันเป็นกระบวนการทางทันตกรรมที่มุ่งเคลื่อนย้ายฟันให้เรียงตัวอย่างสวยงามและมีตำแหน่งที่เหมาะสมบนขากรรไกร แต่คนที่ต้องการจัดฟันมักมีปัญหา เช่น ฟันซ้อนหรือฟันเก ซึ่งหมายถึงฟันมีตำแหน่งไม่เหมาะสมและทำให้รูปลักษณ์ของฟันดูไม่สวยงาม
ในการจัดฟัน การมีพื้นที่เพียงพอบนขากรรไกรเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ฟันสามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้ หากไม่มีการถอนฟันบางซี่เพื่อเปิดพื้นที่ ฟันที่ถูกจัดตำแหน่งใหม่อาจใช้พื้นที่มากเกินไปและทำให้ฟันยื่นออกมา นำไปสู่ปัญหาทางด้านความสวยงามและสุขภาพฟัน
ในกรณีที่ฟันซ้อนหรือเกไม่มาก ทันตแพทย์อาจเลือกใช้วิธีการกรอฟันเพื่อสร้างพื้นที่ วิธีนี้ช่วยหลีกเลี่ยงการถอนฟัน แต่อาจส่งผลต่อรูปลักษณ์ของฟัน เนื่องจากฟันที่ถูกกรออาจมีขนาดเล็กลงและดูสั้น
การตัดสินใจว่าจะต้องถอนฟันหรือไม่ในการจัดฟันขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทันตแพทย์ โดยจะประเมินจากสภาพฟันของผู้ป่วยเป็นหลัก หากมีฟันซ้อนหรือเกมาก การถอนฟันอาจจำเป็นเพื่อให้การจัดฟันได้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว
ปวดฟันแต่ไม่อยากถอนฟัน ทำยังไงดี
ถ้าปวดฟันแต่ยังไม่อยากถอนฟัน ต้องดูว่าปวดจากสาเหตุอะไร
- หากอาการปวดฟันเกิดจากการที่คนไข้เป็นโรคเหงือกอักเสบ และลุกลามไปเป็นโรคปริทันต์ กรณีนี้ฟันจะโยกและไม่มีทางเลือก ทันตแพทย์จะแนะนำว่าไม่สามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ได้ ควรถอนฟัน
- หากเป็นกรณีปวดจากฟันคุด หากไม่ถอนฟันคุดออกอาการปวดเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป
- หากเป็นการปวดฟันที่มีสาเหตุมาจากการที่ฟันผุและทะลุไปโพรงประสาทฟัน กรณีแบบนี้ทันตแพทย์อาจมีทางเลือกให้คือการรักษารากฟัน เพื่อให้คนไข้ไม่ต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไป