ฟันคุด ผ่าฟันคุด ราคาเท่าไหร่ เจ็บไหม ไม่ผ่าได้หรือเปล่า

ฟันคุด  (Impacted Tooth, Wisdom Tooth) คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ตามปกติ หรือขึ้นมาได้เพียงบางส่วน เพราะไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะให้ฟันขึ้นมาได้ครบ หรือมีฟันซี่อื่นมาขวางการขึ้นของฟันไว้ โดยมากฟันคุดมักพบบ่อยในฟันกรามซี่สุดท้าย

สารบัญ

สาเหตุของการเกิดฟันคุด

ภาพ x-ray แสดงตำแหน่งฟันคุด

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดฟันคุดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าเกิดจากวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ขนาดของกระดูกขากรรไกรเล็กลงเมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่จำนวนฟันยังคงเท่าเดิม ทำให้พื้นที่สำหรับฟันลดน้อยลง จึงมีช่องว่างไม่เพียงพอสำหรับฟันที่จะงอกขึ้นมาอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ฟันงอกออกมาในลักษณะที่ผิดปกติ เช่น งอกอยู่ใต้เหงือก งอกเอียง งอกในแนวราบ

ฟันคุดมีกี่แบบ มีลักษณะยังไงบ้าง

ฟันคุดแบ่งตามแนวการวางตัวของฟันได้ 7 แบบ และมีลักษณะดังนี้

  1. Vertical (แนวตั้ง): ฟันคุดที่งอกในแนวตั้งซึ่งเป็นแนวปกติ แต่ไม่สามารถงอกออกมาได้เต็มที่เนื่องจากไม่มีพื้นที่หรือมีอุปสรรคอื่นๆ
  2. Horizontal (แนวนอน): ฟันคุดงอกในแนวนอน โดยฟันหันไปทางด้านข้างของฟันซี่ที่อยู่ถัดไป มักทำให้เกิดอาการปวดหรืออาจทำลายฟันที่อยู่ใกล้เคียง
  3. Mesioangular (แนวเฉียงไปด้านหน้า): ฟันคุดมีมุมเอียงไปทางด้านหน้าคล้ายแนวนอน แต่ไม่ถึงขั้นเป็นแนวนอน
  4. Distoangular (แนวเฉียงไปด้านหลัง): ฟันคุดเอียงไปทางด้านหลังของปาก ตรงข้ามกับ Mesioangular
  5. Inverted (กลับหัว): ฟันคุดที่งอกกลับหัวกลับหาง
  6. Linguoangular (เอียงเข้าหาลิ้น): ฟันคุดเอียงไปทางด้านลิ้น
  7. Buccoangular (เอียงเข้าหาแก้ม): ฟันคุดเอียงไปทางด้านแก้ม

นอกจากนี้ ฟันคุดยังสามารถจำแนกตามความสัมพันธ์กับฟันซี่ข้างเคียงได้ ดังนี้

  • ฟันคุดขึ้นได้เต็มที่โดยไม่กระทบกับฟันซี่ข้างเคียง (Non-impacted)
  • ฟันคุดขึ้นได้บางส่วน แต่ไม่สามารถขึ้นได้เต็มที่เนื่องจากกระทบกับฟันซี่ข้างเคียง (Partially impacted)
  • ฟันคุดไม่สามารถขึ้นได้ เนื่องจากกระทบกับฟันซี่ข้างเคียงอย่างรุนแรง (Fully impacted)
ฟันคุดที่ขึ้นมาเหนือเหงือกได้เพียงบางส่วน
ฟันคุดที่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน

วิธีสังเกตตัวเองว่ามีฟันคุดหรือไม่

หากมีอายุ 17 ปีขึ้นไป จำนวนฟันควรจะเริ่มครบ 32 ซี่แล้ว ให้ลองนับฟันของตัวเองดูว่ามีกี่ซี่ หากนับได้ 28 ซี่ มีโอกาสเป็นไปได้ที่ฟันอีก 4 ซี่ที่เหลือจะเป็นฟันคุดที่ล้มเอียงอยู่ใต้เหงือก หากต้องการความมั่นใจว่ามีฟันคุดจริงๆ ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อ X-ray ตรวจสอบฟันและวางแผนการรักษาต่อไป

อาการฟันคุดแบบไหนที่ควรผ่าฟันคุด?

ควรไปผ่าฟันคุดหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดฟันคุดอย่างรุนแรง
  • เหงือกบวมแดง อักเสบ
  • มีอาการปวดบวมที่ใบหน้า คอ หรือหู
  • มีอาการปวดเมื่อกลืนน้ำลาย
  • มีปัญหาในการอ้าปาก
  • ฟันซี่ข้างเคียงผุหรือโยกคลอน
  • มีถุงน้ำหรือเนื้องอกบริเวณฟันคุด

อาการเหล่านี้อาจเกิดจากฟันคุดขึ้นผิดตำแหน่งหรือไม่สามารถโผล่ขึ้นมาในช่องปากได้ ส่งผลให้เกิดแรงกดทับต่อฟันซี่ข้างเคียง เหงือก และกระดูกขากรรไกร ทำให้เกิดอาการอักเสบและติดเชื้อตามมา หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันอื่นๆ ตามมา

การถอนฟันคุดและผ่าฟันคุดต่างกันอย่างไร?

การถอนฟันคุดและการผ่าฟันคุดมีความแตกต่างกันตรงที่ การถอนฟันคุดจะใช้ในกรณีที่ฟันคุดสามารถขึ้นมาในช่องปากได้ตามปกติและทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือถอนฟันเพื่อดึงฟันออก และโดยทั่วไปแล้วจะไม่ต้องมีการเย็บแผล

ส่วนการผ่าฟันคุดจะใช้ในกรณีที่ฟันคุดไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือผ่าตัดเปิดเหงือก กรอกระดูกหรือแบ่งฟันเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อนำฟันคุดออก และโดยทั่วไปแล้วการผ่าฟันคุดจะต้องมีการเย็บแผล

การถอนฟันคุด การผ่าฟันคุด
ตำแหน่งฟันคุด ขึ้นได้ปกติ ขึ้นผิดตำแหน่งหรือไม่สามารถขึ้นได้
ระยะเวลา 15-30 นาที 30-60 นาที
การเย็บแผล ไม่จำเป็น จำเป็น
ความซับซ้อน น้อยกว่า มากกว่า
ค่าใช้จ่าย น้อยกว่า มากกว่า

 

ทำไมต้องผ่าฟันคุด

สาเหตุที่ต้องผ่าฟันคุดมีดังนี้

  • เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือก – ฟันคุดที่อยู่ผิดตำแหน่งอาจทำให้เศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือกได้ง่าย เศษอาหารเหล่านี้จะเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อเหงือก ส่งผลให้เหงือกอักเสบ ปวด บวม เป็นหนอง และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้
  • เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ – ฟันคุดที่อยู่ผิดตำแหน่งอาจทำให้ฟันข้างเคียงไม่สามารถทำความสะอาดได้สะดวก เศษอาหารอาจติดค้างอยู่และทำให้เกิดฟันผุได้ ในกรณีรุนแรงอาจต้องถอนฟันข้างเคียงออกไปด้วย
  • เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก – แรงดันจากฟันคุดที่อยู่ผิดตำแหน่งอาจทำให้กระดูกรอบรากฟันหรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป

ฟันคุดแบบไหนไม่ต้องผ่า

ฟันคุดที่ไม่ต้องผ่าคือฟันคุดที่งอกมาในตำแหน่งที่ถูกต้องและมีพื้นที่เพียงพอในปากโดยไม่ทำให้ฟันอื่นๆ เบียดกัน หรือทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันคุดที่งอกขึ้นตรงๆ ไม่เอียงหรือโผล่ออกมาทั้งหมดโดยไม่มีอาการปวดหรืออักเสบ และไม่มีการติดเชื้อรอบๆ ฟันคุดนั้น หากฟันคุดของคุณมีลักษณะเช่นนี้ คุณอาจไม่จำเป็นต้องผ่าฟันคุด

ผ่าฟันคุด ราค่าเท่าไหร่

รายการ ราคา (บาท)
ผ่าตัดฟันคุด ( Wisdom tooth Removal) 3,600

หมายเหตุ กรุณาสอบถามราคากับทันตแพทย์ที่คลินิกอีกครั้ง

วิธีเตรียมตัวก่อนไปผ่าฟันคุด

การเตรียมตัวก่อนไปผ่าฟันคุดมีดังนี้

  • หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับอักเสบ ให้ปรึกษาทันตแพทย์ก่อน
  • เลือกวันเวลาที่เหมาะสม ร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส ไม่มีกิจกรรมหนักๆ หลังผ่าฟันคุด
  • ทานอาหารไปพอประมาณ หลังผ่าฟันคุดจะรับประทานอะไรไม่ได้ 2 ชม. เพราะต้องกัดผ้าก๊อซให้เลือดหยุดไหล
  • ก่อนผ่าตัด หากมีข้อสงสัยสอบถามทันตแพทย์ได้เลย เช่น ทานยาอย่างไร นัดตัดไหมเมื่อไหร่ เพราะหลังผ่าจะถามลำบาก
  • อย่าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เลือดสูบฉีดมากขึ้น เลือดจะหยุดไหลช้า

ขั้นตอนการผ่าฟันคุด

ขั้นตอนการผ่าฟันคุดมีดังต่อไปนี้

  • X-ray ตรวจเช็คตำแหน่งและลักษณะการวางตัวของฟันคุด
  • ฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
  • ผ่าเหงือกที่คลุมฟันคุดออก
  • หากฟันคุดฝังอยู่ในกระดูก อาจต้องมีการกรอแบ่งกระดูกที่คลุมฟันคุดออก
  • คีบฟันคุดออกมา
  • เย็บปิดแผล
  • คนไข้กัดผ้าก๊อซให้แน่นประมาณ 2-3 ชั่วโมงให้เลือดหยุดไหล

การดูแลตัวเองหลังผ่าฟันคุด

สิ่งที่สำคัญที่สุดหลังผ่าฟันคุด คือการทำให้เลือดหยุดไหลก่อน กระบวนการหายของแผลจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเลือดหยุดไหล ดังนั้นหลังผ่าฟันคุด 2 ชั่วโมงแรกจึงมีความสำคัญมาก เพราะยาชายังมีฤทธิ์อยู่ คนไข้จึงต้องกัดผ้าก๊อซให้แน่นเพื่อให้เลือดหยุดไหลก่อนยาชาหมดฤทธิ์ นอกจากนั้นยังมีข้อควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • กัดผ้าก๊อซนาน 2 ชั่วโมง ในระหว่างนั้นสามารถกลืนน้ำลายได้ตามปกติ
  • ห้ามบ้วนเลือดและน้ำลาย เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด
  • อย่าเอาลิ้นไปดุน ดัน หรือดูดแผล เพราะจะทำให้แผลไม่ปิด
  • ประคบน้ำแข็งบริเวณแก้มในวันที่ทำการผ่าตัด เพื่อลดอาการปวดและให้เลือดหยุดไหล
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ
  • รับประทานยาให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่งเพื่อลดอาการปวด บวม ทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • งดออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพราะเลือดสูบฉีดเยอะอาจทำให้แผลเปิด
  • งดอาหารร้อนๆ และเครื่องดื่มร้อนๆ เพราะจะทำให้แผลหายช้า
  • ระวังอาหารที่มีขนาดเป็นเกล็ด หรือเม็ดเล็กๆ เช่น เม็ดพริก เพราะอาจลงไปอยู่ในรอยแยกของการเย็บแผลทำให้ติดเชื้อได้
  • แปรงฟันทำความสะอาดในช่องปากตามปกติ
  • กลับไปพบทันตแพทย์เพื่อตัดไหมหลังผ่าตัด 7 วัน
  • หากมีปัญหาหรือผลแทรกซ้อนเกิดขึ้นสามารถกลับมาพบทันตแพทย์ได้ก่อนวันนัด

ผ่าฟันคุดใช้เวลานานไหม กี่นาที

การผ่าฟันคุดจะใช้เวลานานเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเคส โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าฟันคุดมีตำแหน่งอย่างไร, มีการอักเสบหรือติดเชื้อหรือไม่, ฟันคุดฝังอยู่ใต้เหงือกหรือติดกับกระดูก และฟันคุดมีรากเป็นยังไง และฟันคุดเอียงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดที่ทำได้ค่อนข้างรวดเร็วและทันตแพทย์มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ผ่าฟันคุดเจ็บไหม

ช่วงที่เจ็บมี 2 ช่วงคือตอนฉีดยาชาและตอนยาชาหมดฤทธิ์ เมื่อยาชาออกฤทธิ์แล้วจะไม่เจ็บแม้ในขณะทำการผ่า เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ก็จะเริ่มเจ็บแผล โดยระดับความเจ็บปวดจะขึ้นกับความยากง่ายของแต่ละเคส หากฟันคุดอยู่ใกล้เส้นประสาทมาก ก็จะมีโอกาสสูงที่จะเจ็บแผลมาก ควรรับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อตามที่ทันตแพทย์แนะนำ

ผ่าฟันคุดกี่วันหาย

สำหรับอาการปวดบวม ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ก็จะหาย ส่วนแผลผ่าตัดจะหายเมื่อมีการสร้างเนื้อเยื่อเหงือก เส้นใยไฟเบอร์มาคลุมแผลจะใช้เวลานานหลายอาทิตย์ และกว่าที่ด้านล่างของเหงือกจะสร้างกระดูกขึ้นมาทดแทนฟันที่สูญเสียไปก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือนหรือมากกว่านั้น

ผ่าฟันคุดกินอะไรได้บ้าง กินอะไรหายเร็ว

โจ๊ก

หลังผ่าฟันคุดควรรับประทานอาหารอ่อนๆ บดเคี้ยวได้ง่าย หรืออาหารมีการบด หั่น สับให้ละเอียดมาแล้ว เพื่อลดการกัดเคี้ยว รวมถึงไม่ควรทานอาหารที่มีรสจัด หรือเผ็ดร้อนเพราะจะทำให้ระคายเคืองแผล การรับประทานอาหารอ่อนๆ จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ตัวอย่างอาหารที่แนะนำหลังผ่าฟันคุดมีดังนี้

  • โจ๊ก
  • ข้าวต้ม
  • มันบด
  • ซุป
  • แกงจืด
  • ไข่ตุ๋น
  • นม
  • โยเกิร์ต
  • น้ำผลไม้
  • ผลไม้บด
  • ไอศกรีม

ผ่าฟันคุด ห้ามกินอะไร

หลังผ่าฟันคุด ไม่ควรรับประทานอาหารดังต่อไปนี้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองแผลหรือเลือดไหลได้

  • อาหารแข็งหรือเหนียว เช่น เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ผักแข็ง ผลไม้เปลือกแข็ง ถั่ว ขนมปังกรอบ
  • อาหารรสจัด หรือเผ็ดร้อน เช่น ต้มยำ แกงเผ็ด แกงส้ม ต้มข่าไก่ ต้มแซ่บ ต้มเล้ง เป็นต้น
  • อาหารที่เคี้ยวยาก เช่น เนื้อติดมัน หมูกรอบ ไก่ทอด หนังหมู เป็นต้น
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนั้นยังไม่แนะนำให้ใช้หลอดดูดน้ำหลังผ่าฟันคุด เนื่องจากแรงดูดจากหลอดอาจทำให้ลิ่มเลือดที่แผลผ่าตัดหลุดออกได้ ส่งผลให้เลือดไหลและทำให้แผลหายช้าลง

ถอนฟันคุดกี่วันกินข้าวได้

หลังจากการถอนฟันคุดคนไข้อาจต้องรอหลายวันก่อนจะกลับมาทานข้าวหรืออาหารที่มีความแข็งได้ตามปกติ โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาดังนี้

  • 1-2 วันแรก ควรรับประทานอาหารอ่อน และหลีกเลี่ยงอาหารที่ร้อนหรือแข็ง
  • หลังจาก 2 วัน สามารถเริ่มรับประทานของที่แข็งขึ้นได้ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ตามที่ร่างกายรับไหว
  • หลังจาก 1 อาทิตย์ หลายคนสามารถกลับไปรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่อาจต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งหรือกรอบมากไปจนกว่าแผลจะหายสนิท ซึ่งอาจใช้เวลา 2 อาทิตย์หรือมากกว่านั้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เพราะเคสผ่าตัดแต่ละเคสมีความซับซ้อนไม่เหมือนกัน รวมถึงสุขภาพโดยทั่วไปของคนไข้แต่ละคนด้วย ทางที่ดีที่สุดคือค่อยๆ รับประทานอาหารที่แข็งขึ้นทีละนิด ให้พอเท่าที่ร่างกายรับไหวจะดีกว่า

ผ่าฟันคุดมา 5-7 วัน ยังปวดอยู่

โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดหลังจากผ่าฟันคุดจะดีขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกหลังการผ่าตัด แต่อาจยังคงมีอาการปวดอยู่บ้างในช่วง 5-7 วันแรก ไม่ถือว่าผิดปกติ อาการปวดจะค่อย ๆ ลดลงและหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์

สาเหตุที่ทำให้อาการปวดอาจอยู่ได้นาน เช่น ตำแหน่งของฟันคุด, ความยาวของรากฟันว่าอยู่ใกล้เส้นประสาทหรือไม่, รูปร่างฟันคุดเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหลังจากผ่าฟันคุดรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดฟันมากขึ้น มีอาการบวมหรืออักเสบบริเวณแผลมากขึ้น ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์

วิธีทำความสะอาดหลังผ่าฟันคุด

วิธีทำความสะอาดหลังผ่าฟันคุด สามารถทำได้ดังนี้

  • แปรงฟันและบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
  • หลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณที่ผ่าฟันคุด และควรแปรงฟันอย่างเบามือ
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ
  • หลีกเลี่ยงการใช้หลอดกับเครื่องดื่ม หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะแรงดันในช่องปากอาจทำให้แผลเปิด

คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับฟันคุด

ทำอย่างไรเมื่อตรวจเจอฟันคุด

ทันตแพทย์แนะนำว่าหากตรวจเจอก็ควรรีบเอาออก เพราะหากเอาฟันคุดออกตั้งแต่ยังไม่มีอาการเจ็บปวด เราสามารถกำหนดวันเวลาที่เราจะเอาออกได้ เพราะอาการปวดฟันคุดนั้นรุนแรง หากเราตรวจพบฟันคุดแต่ยังไม่เอาออกแล้วไปปวดในที่ที่พบทันตแพทย์ยาก เช่น ไปปวดในที่ที่ไม่มีหมอฟัน ไปปวดที่ต่างประเทศ จะทำให้กลายเป็นเรื่องยุ่งยาก อีกเหตุผลคือหากเก็บฟันคุดไว้นาน ฟันคุดอาจไปดันฟันข้างเคียงซึ่งเป็นฟันดี ทำให้ฟันผุได้ ในท้ายที่สุดอาจต้องสูญเสียทั้งฟันคุดและฟันดีๆ ที่อยู่ข้างเคียงด้วย

ผ่าฟันคุดช่วยลดขนาดกรามได้จริงหรือไม่

การผ่าฟันคุดไม่สามารถลดขนาดของกรามหรือกระดูกขากรรไกรลงได้เลย เพราะการผ่าฟันคุดเป็นแค่การนำฟันซึ่งไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออกจากช่องปากเท่านั้น

บางครั้งการที่เราจะนำฟันคุดออกจากกระดูกขากรรไกรอาจจะต้องมีการกรอแต่งกระดูกออก เพื่อให้สามารถนำเอาฟันคุดออกจากกระดูกขากรรไกรได้ แต่ภายหลังจากที่เรานำเอาฟันคุดออกไปแล้ว ร่างกายเราจะสร้างกระดูกขึ้นทดแทนในบริเวณดังกล่าวเช่นเดิมดังนั้นขากรรไกรจะไม่เล็กลง

ผ่าฟันคุดแล้วปากไม่หายชา

หากผ่าฟันคุดมานานหลายเดือนแล้วริมฝีปากไม่หายชา เป็นไปได้ว่าฟันคุดที่ผ่าออกไปนั้นอาจมีการวางตัวที่ขนานกับเส้นประสาท ทำให้เวลาผ่าออกจะต้องแบ่งฟันคุดนั้นให้เล็กลง มีการกระทบกระเทือนเส้นประสาทมาก ทำให้ชาเป็นระยะเวลานาน

อาการชาดังกล่าวไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย สามารถเข้าพบทันตแพทย์ได้เพื่อรับคำปรึกษา บางครั้งทันตแพทย์อาจจะสั่งวิตามินให้มาทานเพื่อให้อาการดีขึ้น

นอกจากนั้นอาการชาอาจจะเกิดจากการฉีดยาชาที่บริเวณใกล้เส้นประสาท แล้วทำให้ชาก็ได้เช่นกัน

ต้องถอนฟันคุดก่อนการจัดฟันไหม

แนะนำให้ถอนออกก่อน เพราะการจัดฟันใช้เวลาค่อนข้างนาน ส่วนมากใช้เวลา 1-2 ปี ถ้าปวดฟันคุดในขณะที่กำลังจัดฟัน การผ่าตัดเอาฟันคุดออกก็จะยุ่งยากกว่าเดิมเพราะมีเครื่องมือจัดฟันอยู่ นอกจากนั้นการดูแลทำความสะอาดฟันก็ยากกว่า เพราะแค่มีเครื่องมือจัดฟันก็ต้องดูแลฟันเพิ่มขึ้นแล้ว แล้วยังมีแผลผ่าฟันคุดที่ต้องดูแลอีก โอกาสที่จะเกิดฟันผุในบริเวณฟันคุดหรือฟันข้างเคียงก็เป็นไปได้สูง

ฟันคุดที่ขึ้นมาได้จำเป็นต้องถอนไหม

ถ้าฟันนั้นสามารถขึ้นมาได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องถอน แต่ก็ควรให้ทันตแพทย์ตรวจเพราะบางทีอาจมีเหงือกคลุมบางส่วนของฟันอยู่ หรือเป็นฟันที่อยู่ในตำแหน่งที่ลึกมาก ไม่สามารถที่จะดูแลทำความสะอาดได้ง่าย อาจทำให้เกิดฟันผุ หรือมีกลิ่นปากได้ ทันตแพทย์ก็จะแนะนำให้ถอนฟันออก

บทความนี้ตรวจสอบโดย

ทพ. อดิศร หาญวรวงศ์

Adisorn Hanworawong

ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master in Implant Dentistry (gIDE/UCLA CA. USA.)
วท.ม. สาขาวิทยาการแพทย์ (วิศวกรรมเนื้อเยื่อ)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศนียบัตร อบรมหลักสูตรจัดฟัน Fellowship of Indian Academy of Orthodontics
Invisalign Cert., Invisalign provider

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้เหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์และใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเนื้อหา บริการ และการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับคุณ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกและจะถูกเก็บเป็นความลับ

บันทึกการตั้งค่า