การถอนฟันเป็นหนึ่งในขั้นตอนทางทันตกรรมที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ก็เป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากในช่องปากของคนเรามีเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เวลาถอนฟันมีโอกาสที่จะติดเชื้อและเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย นอกจากนี้เนื้อเยื่อในช่องปากยังบอบบางและเป็นจุดเชื่อมต่อของระบบประสาทด้วย ทันตแพทย์จึงจำเป็นต้องทำการซักประวัติคนไข้อย่างละเอียดก่อนเริ่มทำการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ต้องถอนฟันหลายซี่
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจึงต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง เนื่องจากโรคประจำตัวเหล่านี้อาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการทำหัตถการทางทันตกรรม
ในบทความนี้ เราจะพูดถึงโรคที่ห้ามถอนฟันหรือต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความสำคัญของการแจ้งโรคประจำตัวแก่ทันตแพทย์ และตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการถอนฟันในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การทราบข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้การรักษาทางทันตกรรมเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
3 กลุ่มโรคที่ห้ามถอนฟัน
1. กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ, โรคลูคีเมีย, โรคไต และผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เลือดจะหยุดไหลยากทำให้ถอนฟันไม่ได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยที่มีประวัติเคยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ก็ต้องแจ้งก่อนถอนฟัน เพราะอาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะขนาดสูงก่อนรับการรักษาทางทันตกรรม
2. กลุ่มโรคที่อาจเกิดอาการได้ในระหว่างทำฟัน เช่น โรคหอบหืด อาจมีอาการหอบเหนื่อยระหว่างการรักษาจึงต้องมีการพ่นยาก่อน, โรคลมชัก, โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อน เพราะอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้ยาชาหรืออาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะก่อนเข้ารับการถอนฟันเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อได้ง่าย
3. กลุ่มโรคเบาหวานโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี หรือไม่ได้ทานยาตามแพทย์สั่ง จะไม่สามารถถอนฟันได้ เนื่องจากจะติดเชื้อง่ายและแผลหายช้า
ดังนั้นจึงควรแจ้งโรคประจำตัวให้ทันตแพทย์ทราบก่อนทำการถอนฟัน เพราะอาจมีการให้หยุดยาที่รับประทานเป็นประจำอยู่ หรือทันตแพทย์อาจต้องจ่ายยาปฏิชีวนะก่อนทำการรักษา
นอกจากห้ามถอนฟันแล้ว ยังห้ามทำอะไรอีก
นอกจากการถอนฟันแล้ว กลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงเหล่านี้ยังต้องระมัดระวังในการทำหัตถการทางทันตกรรมอื่นๆ อีก เช่น
- การขูดหินปูน และการเกลารากฟัน เนื่องจากการขูดหินปูนจะทำให้เกิดแผลเล็กๆ ได้ ซึ่งก็สามารถเป็นทางเข้าสำหรับเชื้อแบคทีเรียไปสู่กระแสเลือดได้ ทำให้กลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป
- การรักษารากฟัน แม้ว่าการรักษารากฟันจะไม่เกี่ยวข้องกับการถอนฟัน แต่ก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านเลือดหยุดไหลช้า
- การทำรากฟันเทียม เนื่องจากต้องมีการผ่าตัดและเจาะกระดูกขากรรไกร ซึ่งเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อ
- การศัลยกรรมเหงือก เช่น การตัดเหงือก, ปลูกเหงือก เนื่องจากมีการตัดเนื้อเยื่อซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเช่นกัน
ถ้าไม่รู้ตัวว่าเป็นกลุ่มโรคห้ามถอนฟัน ทำอย่างไร
หากคนไข้ไม่ทราบว่าตัวเองมีโรคที่ห้ามถอนฟัน เช่น เป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำแต่ไม่เคยตรวจมาก่อน เลยทำให้ไม่ทราบ แล้วได้เริ่มทำการถอนฟันไปแล้ว ทันตแพทย์จะสามารถสังเกตได้ว่ามีเลือดไหลมากผิดปกติหรือมีเลือดไหลไม่หยุด ถ้าเป็นกรณีนี้ทันตแพทย์อาจใช้ยาที่มีผลในการช่วยห้ามเลือด รวมถึงอาจใช้การเย็บแผลและให้คนไข้กัดผ้าก๊อซเพิ่ม เพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ จึงค่อยให้คนไข้กลับบ้านได้
อย่างไรก็ตามควรไปตรวจสุขภาพก่อนเพื่อให้ทราบว่าคนไข้มีโรคประจำตัวที่ห้ามถอนฟันหรือไม่ เพราะระดับอาการของแต่ละโรคในคนไข้แต่ละคนก็ไม่เท่ากัน การตรวจสุขภาพและการแจ้งประวัติทางการแพทย์รวมถึงยาที่รับประทานอยู่ ก่อนทำหัตถการจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนและลดความเสี่ยงในการรักษา