ปลูกกระดูกฟัน คืออะไร เจ็บไหม ราคาเท่าไหร่

การสูญเสียกระดูกรองรับฟันเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยทางทันตกรรม ไม่ว่าจะเป็นผลจากการถอนฟัน โรคปริทันต์ ภาวะฟันกรามซ้อน หรือจากอุบัติเหตุ การขาดแคลนกระดูกดังกล่าวส่งผลให้ไม่สามารถฝังรากฟันเทียมหรือทำการบูรณะฟันบางประเภทได้ แต่ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการทางทันตกรรม การปลูกกระดูกฟันจึงถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหานี้

สารบัญ

การปลูกกระดูกคืออะไร

การปลูกถ่ายกระดูก(Bone Grafting หรือ Bone Augmentation) คือ การผ่าตัดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหรือฟื้นฟูกระดูกบริเวณขากรรไกรที่มีกระดูกบาง หรือมีการสูญเสียกระดูก การสูญเสียกระดูกนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคเหงือกการบาดเจ็บหรือการถอนฟันแล้วไม่มีฟันปลอมมาทดแทนเป็นเวลานาน

การปลูกถ่ายกระดูกเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำให้คนไข้มีความพร้อมสำหรับการใส่รากฟันเทียม ซึ่งต้องการปริมาณกระดูกที่มากเพียงพอเพื่อให้รากฟันเทียมยึดเกาะได้ดีขึ้น

ประเภทของวัสดุที่ใช้ในการปลูกถ่ายกระดูก

วัสดุที่ใช้ในการปลูกถ่ายกระดูกมีหลักๆ 4 อย่างดังนี้

Autograft

Autograft คือ กระดูกที่เอามาจากร่างกายของคนไข้เอง เช่น สะโพก คาง หรือขากรรไกรล่างมีอัตราการผสานกับกระดูกขากรรไกรสูงที่สุด มักเอากระดูกมาจากส่วนกรามใกล้บริเวณฟันคุด

Allograft

Allograft คือ กระดูกที่ได้มาจากผู้บริจาคคนอื่นจะผ่านการฆ่าเชื้อและกระบวนการต่างๆ ก่อนนำมาใช้ในการผ่าตัด

Xenograft

Xenograft คือ กระดูกจากสัตว์อื่น โดยทั่วไปเป็นวัวหรือหมู ที่ผ่านการปรับแต่งเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานกับมนุษย์

Synthetic materials

Synthetic materials คือ วัสดุสังเคราะห์ที่สามารถกระตุ้นการสร้างกระดูกจริงได้ เช่น แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphates)

เมื่อไหร่ถึงจะต้องปลูกกระดูกฟัน

คนไข้จะต้องได้รับการปลูกกระดูกฟันเมื่อจะเข้ารับการฝังรากฟันเทียมแต่กระดูกที่รองรับบริเวณนั้นมีปริมาณไม่มากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณฟันหน้า เมื่อมีการถอนฟันหรือสูญเสียฟันไปแล้วปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน กระดูกที่รองรับรากฟันจะค่อยๆ ละลายยุบตัวลงเรื่อยๆ

บางคนแม้ไม่มีการสูญเสียฟันหรือถอนฟัน แต่กกระดูกก็หายไปได้ เช่น ในกรณีเป็นโรคเหงือก ฟันผุมากๆ ปล่อยให้มีหนอง เชื้อโรคที่อยู่บริเวณกระดูกนานๆ ก็จะทำลายกระดูกไปเรื่อยๆ จนฟันโยกและกระดูกหายไปแล้วทำให้มีปริมาณกระดูกไม่พอที่จะทำรากฟันเทียมเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น คนไข้บางคนกระดูกบางแค่ 2-3 มิลลิเมตร การที่เราจะใส่รากฟันเทียมซึ่งมีลักษณะคล้ายสกรู ซึ่งบางครั้งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตรหรือมากกว่า เราก็ไม่สามารถที่จะเอาสกรูใส่ลงไปได้ จึงต้องทำการปลูกกระดูกเพื่อให้กระดูกหนาขึ้นเพียงพอที่จะรองรับรากฟันเทียมก่อน

ขั้นตอนวิธีการปลูกกระดูกฟัน

ขั้นตอนในการปลูกกระดูกจากการสูญเสียฟัน

ขั้นตอนการปลูกกระดูกฟันมีดังนี้:

  • ทันตแพทย์จะทำการประเมินสภาพของกระดูกขากรรไกรและบริเวณรอบๆ ที่ต้องการการปลูกถ่าย รวมถึงการ X-ray และ CT Scan เพื่อประเมินความหนาแน่นและปริมาณของกระดูกและตำแหน่งของโครงสร้างสำคัญ เช่น เส้นประสาทและเส้นเลือด
  • เลือกวัสดุปลูกกระดูก มีหลายตัวเลือก เช่น กระดูกจากตัวผู้ป่วยเอง (autograft), กระดูกจากผู้บริจาค (allograft), กระดูกสังเคราะห์ (synthetic options), หรือกระดูกจากสัตว์ (Xenograft) ทันตแพทย์จะเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดตามความต้องการของผู้ป่วยและเงื่อนไขทางการแพทย์
  • หากใช้กระดูกตัวเอง ทันตแพทย์จะตัดกระดูกส่วนอื่นออกมาปลูกถ่ายบริเวณที่ขากรรไกรที่ต้องการ
  • หากใช้กระดูกเทียมหรือสังเคราะห์ สามารถปลูกถ่ายได้ทันที
  • ทันตแพทย์เย็บเพื่อปิดแผล
  • หลังจากการปลูกถ่ายกระดูก ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้เวลาฟื้นตัว รวมถึงหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหรือการกระทำใดๆ ที่จะส่งผลให้มีแรงกดบนพื้นที่ที่ได้รับการรักษา ทันตแพทย์จะทำการติดตามเพื่อตรวจสอบการรักษาและการเจริญเติบโตของกระดูกใหม่

เมื่อปลูกกระดูกเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะมีการประเมินอีกครั้งว่าปริมาณกระดูกเพียงพอหรือไม่ ถ้าหากเพียงพอแล้วก็จะสามารถฝังรากฟันเทียมได้ โดยอาจมีการเสริมกระดูกเพิ่มเติมในกระบวนการพร้อมกับการฝังรากฟันเทียมไปด้วย

การปลูกกระดูกที่ฟันหน้า

การปลูกกระดูกที่ฟันหน้า

การปลูกกระดูกที่ฟันหน้าจะต้องการความละเอียดกว่าตำแหน่งอื่นเล็กน้อย เพราะรากฟันเทียมที่ฟันหน้าต้องมีความสวยงาม ดูกลมกลืนกับฟันข้างๆ เนื่องจากเป็นฟันบริเวณที่เห็นชัดที่สุดเวลายิ้ม

รากฟันเทียมจะมั่นคงหรือสวยงามได้ต้องอยู่บนพื้นฐานกระดูกที่ดี กระดูกที่มีปริมาณเหมาะสม ในกรณีที่ฟันธรรมชาติถูกถอนออกไปจากอุบัติเหตุหรือจากโรคเหงือกที่มีการสูญเสียของกระดูกเบ้าฟันค่อนข้างเยอะ มักจะเป็นปัญหาในการฝังรากฟันเทียมฟันหน้า เกือบทุกเคสจะต้องมีการปลูกกระดูกร่วมด้วย

 

ปลูกกระดูก ใช้กระดูกตัวเองหรือกระดูกเทียมดี

ทันตแพทย์จะเป็นคนพิจารณาว่าควรใช้กระดูกของคนไข้หรือกระดูกเทียม โดยจะต้องทำการตรวจช่องปากก่อนแล้วทำการ X-ray และ CT Scan จึงจะประเมินได้ว่าควรใช้กระดูกอะไรในการปลูก

หากกระดูกหายไปน้อย ต้องการการปลูกกระดูกเพียงเล็กน้อยก็จะใช้กระดูกสังเคราะห์หรือกระดูกสัตว์ดีกว่า เพราะเจ็บตัวน้อยกว่า

หากกระดูกหายไปเยอะ ก็จะใช้กระดูกของคนไข้เองเพราะมีอัตราความสำเร็จสูงกว่าและละลายยากกว่า เนื่องจากกระดูกสัตว์และกระดูกสังเคราะห์มีลักษณะเป็นเม็ดผงจึงมีการละลายที่มากกว่า

หากต้องการกระดูกขนาดใหญ่แต่ไม่ใช้กระดูกของคนไข้เอง อาจจะต้องมีการปลูกกระดูกรอบที่ 2-3 เพื่อให้กระดูกมีความหนาเพียงพอ อาจทำให้เสียเงินหลายรอบ เจ็บตัวหลายรอบ

ใช้กระดูกกรามในการปลูกกระดูก
ใช้กระดูกบริเวณกรามของคนไข้เอง
ใช้กระดูกบริเวณคางของคนไข้
ใช้กระดูกบริเวณคางของคนไข้ในการปลูกกระดูก

ข้อดีและข้อเสียของการปลูกกระดูกแต่ละแบบ

กระดูกตัวเอง (Autograft)

ข้อดีของการใช้กระดูกตัวเองคือ

  • ได้กระดูกมาใช้งานเยอะ
  • เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จสูงกว่า
  • ใช้เวลาในการรอการปลูกกระดูกสั้นกว่า ประมาณแค่ 3-4 เดือน

ข้อเสียของการใช้กระดูกตัวเองคือ

  • ต้องเจ็บแผล 2 ที่ คือที่ที่ไปตัดเอากระดูกมา (Donor site) และที่ที่เอากระดูกมาใส่
  • การผ่าตัดใช้เวลานานกว่า

กระดูกเทียมหรือกระดูกจากสัตว์ (Xenograft, Synthetic materials)

ข้อดีของการใช้กระดูกสัตว์หรือกระดูกสังเคราะห์

  • เจ็บตัวน้อยกว่าเพราะแผลมีที่เดียว

ข้อเสียของการใช้กระดูกสัตว์หรือกระดูกสังเคราะห์

  • ใช้เวลาในการรอนานกว่า ประมาณ 6-8 เดือนขึ้นไป ถึงฝังรากฟันเทียมได้
  • หากมีการละลายเยอะ อาจต้องมีการปลูกกระดูกรอบ 2-3 ทำให้เจ็บตัวซ้ำ เสียค่าใช้จ่ายหลายรอบ

อัตราความสำเร็จและปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกกระดูก

ในการปลูกกระดูกฟันหรือการปลูกกระดูกเทียมในทางทันตกรรม อัตราความสำเร็จและคุณภาพของการปลูกกระดูกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงประเภทของวัสดุที่ใช้ วิธีการปลูกกระดูก และการดูแลรักษาหลังการผ่าตัด

อัตราความสำเร็จของการปลูกกระดูกฟันเทียมอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่ามีการใช้กระดูกเทียมเพียงพอหรือไม่ และกระดูกเหล่านั้นสามารถผสานกับกระดูกธรรมชาติได้ดีเพียงใด บางครั้งหลังจากการปลูกกระดูก 6-8 เดือน กระดูกที่ถูกปลูกอาจมีการยึดติดและผสานกับกระดูกธรรมชาติเพียง 40-60% เท่านั้น ดังนั้น ทันตแพทย์จะคำนึงและวางแผนการใส่กระดูกเทียมให้มากกว่าที่ต้องการ เพื่อชดเชยการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการปลูกกระดูกเทียม การยึดติดหรือผลสำเร็จในการปลูกกระดูกขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น

  • คนไข้ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อส่งเสริมการรักษาและลดโอกาสของการเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • งดสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่สามารถลดการหลั่งของเลือดไปยังบริเวณที่รักษา ทำให้กระดูกฟื้นตัวช้าลงและลดโอกาสในการผสานของกระดูก
  • หากมีการใส่ฟันปลอมบริเวณที่ทำการปลูกกระดูก คนไข้อาจต้องงดใส่ฟันปลอมชั่วคราวหรือปรับการใช้งานฟันปลอมเพื่อไม่ให้มีแรงกดบนบริเวณที่ปลูกกระดูก เพราะอาจทำให้กระดูกที่ปลูกใหม่เสียหายหรือการผสานของกระดูกล้มเหลว

อาการหลังปลูกกระดูก

หลังปลูกกระดูกเทียมคนไข้มักมีอาการบวมและปวดบริเวณที่ทำการปลูกกระดูก โดยจะมีอาการปวดและบวมมากกว่าการฝังรากฟันเทียมแบบปกติ เนื่องจากเป็นการใส่วัสดุอื่นเสริมเข้าไปบริเวณนั้น การอักเสบและการหายของแผลจะใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน โดยปกติอาจบวมหรือปวดประมาณ 1-2 อาทิตย์

การดูแลหลังปลูกกระดูกฟัน

การดูแลหลังการปลูกกระดูกฟันเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของกระดูกที่ปลูกได้นานขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ด้วย

  • หลังจากปลูกกระดูกฟันเสร็จ ใน 24 ชั่วโมงแรกให้ระมัดระวังเรื่องการกระเทือนในช่องปาก ควรรับประทานอาหารเหลวหรืออ่อน และไม่ควรดื่มน้ำจากหลอดจนกว่าแผลจะหายดี
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหรือกัดอาหารแข็งหรือเหนียว เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกที่ปลูกได้รับความเสียหาย
  • รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี แปรงฟันเบาๆ ใช้แปรงขนนุ่ม หลีกเลี่ยงบริเวณที่ปลูกกระดูก
  • ห้ามดื่มเครืองดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้แผลหายช้า
  • ห้ามสูบบุหรี่เพราะทำให้การปลูกกระดูกได้ผลช้าลงและไม่สำเร็จ
  • ห้ามออกกำลังกายหนักใน 3 วันแรกหลังผ่าตัดเสร็จ
  • หากมีอาการปวด เลือดออก บวมเพิ่ม มีไข้ หายใจลำบาก กลืนลำบาก ให้รีบมาพบทันตแพทย์

ปลูกกระดูกฟัน ราคาเท่าไหร่

ราคาสำหรับปลูกกระดูกเพื่อใส่รากฟันเทียมที่ MOS Dental Clinic เป็นดังนี้:

หัตถการ (Procedure) ราคา (บาท)
ปลูกกระดูกสำหรับการใส่รากเทียม ( Bone Augmentation ) 15,000-25,000

 

ดังนั้นเวลาวางแผนทำรากฟันเทียมหากคนไข้ปรึกษาทันตแพทย์แล้วพบว่ามีกระดูกบาง จะต้องเผื่องบประมาณสำหรับปลูกกระดูกไว้ด้วยเช่นกัน คือต้องวางแผนสำหรับราคาตัวรากฟันเทียม, ตัวครอบฟัน, และการปลูกกระดูก

ข้อแนะนำคนไข้ที่สูญเสียฟัน

หากคนไข้มีการสูญเสียฟันไปโดยเฉพาะฟันหน้า ควรรีบเข้ามาตรวจประเมินตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากปล่อยระยะเวลาผ่านไปนานๆ กระดูกบริเวณนั้นก็จะค่อยๆ ละลายไป หากเราได้รับการรักษาและฝังรากฟันเทียมอย่างรวดเร็ว จะสามารถลดโอกาสในการที่จะต้องปลูกกระดูกเยอะๆ ลงไปได้ รวมถึงลดการเจ็บจากการผ่าตัด และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถใส่รากฟันเทียมได้ง่ายกว่า ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น

คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับปลูกกระดูกฟัน

ปลูกกระดูกฟัน เจ็บไหม บวมกี่วัน

ความเจ็บปวดของการปลูกกระดูกฟันนั้นเจ็บ แต่ไม่ได้เจ็บมากขนาดทนไม่ได้ จะเจ็บประมาณเท่าๆ กับผ่าฟันคุดหรือถอนฟันเคสยากๆ และหากใช้กระดูกของคนไข้เองก็จะต้องเจ็บ 2 ที่ จากตำแหน่งที่เอากระดูกมา และตำแหน่งที่ปลูกกระดูก

อาจมีอาการบวมหรือมีรอยช้ำในช่วง 2-3 วันแรก และอาการบวมจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 1-2 อาทิตย์ คนไข้สามารถประคบเย็น รวมถึงรับประทานยาแก้ปวดได้

นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้แผลหายช้า เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ปลูกกระดูกฟันใช้เวลานานไหม

ระยะเวลาในการปลูกกระดูกเทียมขึ้นอยู่กับว่าใช้กระดูกจากอะไรในการปลูก

  • ปลูกด้วยกระดูกตัวเอง – จะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 4 เดือนถึงจะฝังรากฟันเทียมได้
  • ปลูกด้วยกระดูกเทียมหรือกระดูกสังเคราะห์ – จะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 6-8 เดือน เพราะต้องรอให้เกิดกระดูกจริงตามมาจึงใช้เวลานานกว่า

ปลูกกระดูกฟันที่ไหนดี

  • ควรเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง ทันตแพทย์มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการปลูกกระดูกและการติดตั้งรากฟันเทียม
  • ทันตแพทย์และสถานที่ปฏิบัติการมีการรับรองจากทันตแพทยสภา
  • ตำแหน่งที่ตั้งของคลินิกหรือโรงพยาบาล ต้องมีความสะดวกในการเดินทาง หากมีปัญหาสามารถติดต่อได้ง่าย ไปรักษาได้ง่าย
  • เปรียบเทียบราคาจากหลายๆ คลินิก
  • ดูรีวิวจริงจากคนได้รับบริการ

 

บทความนี้ตรวจสอบโดย

ทพ. อดิศร หาญวรวงศ์

Adisorn Hanworawong

ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master in Implant Dentistry (gIDE/UCLA CA. USA.)
วท.ม. สาขาวิทยาการแพทย์ (วิศวกรรมเนื้อเยื่อ)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศนียบัตร อบรมหลักสูตรจัดฟัน Fellowship of Indian Academy of Orthodontics
Invisalign Cert., Invisalign provider

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้เหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์และใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเนื้อหา บริการ และการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับคุณ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกและจะถูกเก็บเป็นความลับ

บันทึกการตั้งค่า