อาหารที่ทำให้ฟันผุ มีอะไรบ้าง

หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของการเกิดฟันผุคืออาหารที่เรารับประทานในชีวิตประจำวัน อาหารบางประเภทเอื้อให้แบคทีเรียในช่องปากเจริญเติบโตได้ง่ายกว่าและสร้างกรดที่ทำลายเคลือบฟันได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม หรือแม้แต่อาหารที่มีแป้งมาก ก็สามารถส่งผลให้เกิดการสะสมของคราบพลัค ซึ่งเป็นแหล่งรวมของแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุได้

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด ก็สามารถกัดกร่อนเคลือบฟันและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้เช่นกัน ในบทความนี้เราจะมาสำรวจประเภทของอาหารที่ทำให้ฟันผุ พร้อมทั้งวิธีการป้องกันเพื่อให้คุณสามารถดูแลสุขภาพฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น้ำอัดลม น้ำหวาน

น้ำอัดลมนั้นมีฤทธิ์เป็นกรด (ค่า pH ต่ำ) ซึ่งความเป็นกรดนี้ก็จะไปทำลายเคลือบฟัน นอกจากนั้นน้ำอัดลมยังมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณที่สูงซึ่งเป็นปัจจัยเสริมในการทำให้เกิดฟันผุอีกด้วย เมื่อเราดื่มน้ำอัดลมความเป็นกรดจะกัดกร่อนเคลือบฟัน ส่งผลให้เคลือบฟันบางลง ทำให้ฟันเสี่ยงต่อการผุกร่อนง่ายขึ้น

สำหรับน้ำหวานนั้นก็มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบเยอะ นำ้ตาลคืออาหารสำหรับแบคทีเรียในช่องปาก เมื่อแบคทีเรียได้รับน้ำตาลจะเกิดกระบวนการที่สร้างกรดออกมาเช่นกัน กรดนี้ก็จะทำลายเคลือบฟันทำให้เกิดฟันผุ เมื่อเราดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้บ่อยๆ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุมากขึ้น

ผลไม้และอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด

ผลไม้รสเปรี้ยวจัด เช่น มะนาว ส้ม มะยม มะขาม ตะลิงปลิง มะเฟือง สับปะรด  มีความเป็นกรดสูง ซึ่งกรดจากผลไม้เหล่านี้ก็จะค่อยๆ ทำลายเคลือบฟันเมื่อบริโภคเป็นประจำเช่นกัน ทำให้เคลือบฟันบางลงและเสี่ยงต่อฟันผุมากขึ้น

อาหารรสจัด เช่น ยำ ส้มตำ และน้ำส้มสายชูหรืออาหารที่ใส่มะนาวเยอะๆ ก็ทำให้ฟันกร่อนได้ง่ายโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ชั้นผิวเคลือบฟันจะบางตามอายุที่มากอยู่แล้วด้วย

ไอศกรีมและขนมหวาน

ไอศกรีมและขนมหวานเป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งน้ำตาลเป็นอาหารหลักของแบคทีเรียในช่องปาก เมื่อแบคทีเรียได้รับน้ำตาลจากอาหารเหล่านี้ก็จะเริ่มกระบวนการหมักและผลิตกรดซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการหมักออกมา กรดที่เกิดขึ้นจะกัดชั้นผิวเคลือบฟัน ทำให้เคลือบฟันบางลงและจะทำให้เกิดฟันผุในที่สุด

น้ำแข็งและอาหารที่แข็งมากๆ

น้ำแข็งและอาหารที่แข็งมากๆ เช่น ลูกอม ถั่วแข็งๆ กระดูกอ่อน สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อฟันได้เช่นกันแม้ว่าจะไม่มีน้ำตาลหรือกรดที่ทำลายเคลือบฟันได้ แต่การเคี้ยวน้ำแข็งหรืออาหารที่แข็งมากๆ เหล่านี้ สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุ ฟันบิ่น ฟันแตก หรือฟันหักได้ง่าย โดยเฉพาะกับฟันที่มีเคลือบฟันบางหรือมีร่องรอยการสึกกร่อนอยู่ก่อนแล้ว

ชา กาแฟ

ชาและกาแฟมีสารแทนนิน (Tannin) เป็นส่วนประกอบซึ่งมีรสฝาดและมีฤทธิ์เป็นกรด จึงสามารถกัดกร่อนเคลือบผิวฟันได้เช่นกัน ดังนั้นหากชอบทานชากาแฟ ทางที่ดีควรจะดื่มน้ำตาม กลั้วปากด้วยน้ำเปล่า เพื่อช่วยเจือจางความเข้มข้นของสารแทนนินให้ลดลง

ผลไม้อบแห้ง

ผลไม้อบแห้งเป็นอาหารที่มีรสชาติหวานและมีน้ำตาลสูง เนื่องจากในกระบวนการอบแห้งน้ำในผลไม้จะถูกกำจัดออกไป ทำให้น้ำตาลธรรมชาติในผลไม้มีความเข้มข้นมากขึ้น จึงสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันได้มาก นอกจากนั้นผลไม้อบแห้งยังเหนียวทำให้ติดตามร่องฟันได้นาน ทำให้ระยะเวลาในการสัมผัสกันของน้ำตาลและฟันนานขึ้น ซึ่งก็จะเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียและทำให้เกิดฟันผุได้มากขึ้นไปอีก การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหลังจากรับประทานผลไม้อบแห้งจึงจำเป็นมาก

วิธีดูแลฟันหลังรับประทานอาหารที่เสี่ยงทำให้ฟันผุ

  • กลั้วหรือบ้วนปากด้วยน้ำเปล่า เพื่อชะล้างเศษอาหารและน้ำตาลออกจากปาก รวมถึงทำให้อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดเจือจางลงด้วย
  • ถ้าเป็นไปได้แปรงฟันหลังอาหารทุกครั้ง และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อช่วยซ่อมแซมเคลือบฟันที่สูญเสียไป
  • ใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เหนียวและมีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้อบแห้งหรือขนมที่มีเนื้อเหนียว
  • เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำลายซึ่งเป็นวิธีทางธรรมชาติในการล้างคราบกรดและเศษอาหาร
  • ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือนเพื่อให้สามารถตรวจพบปัญหาเกี่ยวกับฟันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

นอกจากนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับฟันก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันฟันผุ้เช่นกัน เช่น การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสเยอะ เช่น เต้าหู้ งา อาหารทะเล ไข่ นม ผักใบเขียว การรับประทานอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างเคลือบฟันและกระดูกให้แข็งแรง

บทความนี้ตรวจสอบโดย

ทพ. อดิศร หาญวรวงศ์

Adisorn Hanworawong

ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master in Implant Dentistry (gIDE/UCLA CA. USA.)
วท.ม. สาขาวิทยาการแพทย์ (วิศวกรรมเนื้อเยื่อ)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศนียบัตร อบรมหลักสูตรจัดฟัน Fellowship of Indian Academy of Orthodontics
Invisalign Cert., Invisalign provider

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้เหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของคุณได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปวิเคราะห์และใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเนื้อหา บริการ และการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับคุณ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกและจะถูกเก็บเป็นความลับ

บันทึกการตั้งค่า