น้ำยาบ้วนปาก คือ ผลิตภัณฑ์สำหรับล้างและทำความสะอาดภายในช่องปาก มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ลดปริมาณแบคทีเรีย ป้องกันการเกิดคราบพลัค หินปูนและลดกลิ่นปาก
น้ำยาบ้วนปากมีกี่ชนิด
น้ำยาบ้วนปาก แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. น้ำยาบ้วนปากทั่วไป (Cosmetic Mouthwash) – ไม่มีส่วนผสมของสารที่ใช้ยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก ใช้เพื่อให้ลมหายใจหอมสดชื่อได้ชั่วคราว ช่วยลดกลิ่นปาก และในบางยี่ห้ออาจผสมฟลูออไรด์เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ หรือใส่สารที่ทำให้ฟันขาวขึ้น สารที่มักพบในน้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้ได้แก่ ฟลูออไรด์ เมนทอล กานพลูุ คาร์บาไมด์เปอร์ออกไซด์ น้ำมันหอมระเหย ดีเทอร์เจน เป็นต้น
2. น้ำยาบ้วนปากที่มีผลต่อการรักษา (Therapeutic Mouthwash) – มีส่วนผสมของสารที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เช่น คลอเฮกซิดีน เซทิลไฟริดีเนียมคลอไรด์ เป็นต้น จะใช้น้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้ในกรณีที่คนไข้ได้รับการผ่าตัดในช่องปาก หรือมีปัญหาในการควบคุมคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก แต่การใช้น้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดคราบติดบนผิวฟัน และจะทำให้สมดุลของเชื้อโรคในช่องปากเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
วิธีเลือกน้ำยาบ้วนปาก
แนะนำให้เลือกน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ และเลือกแบบที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพื่อลดการระคายเคืองเยื่อบุในช่องปาก นอกจากนี้การเลือกน้ำยาบ้วนปากยังขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่เราต้องการด้วย เช่น เพื่อลมหายใจหอมสดชื่น ลดอาการเสียวฟัน ลดอาการเหงือกอักเสบ ลดเชื้อโรคในช่องปาก เป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติและสารประกอบต่างๆ จะเขียนไว้บนฉลากน้ำยาบ้วนปาก สามารถอ่านและเลือกใช้ได้ตามความต้องการ
วิธีใช้น้ำยาบ้วนปาก
- เทน้ำยาบ้วนปาก 20 มิลลิลิตร (4 ช้อนชา) ลงในฝาขวด แล้วเทเข้าปากโดยไม่ต้องผสมน้ำเพิ่ม
- อมกลั้วน้ำยาบ้วนปากเป็นระยะเวลา 30-60 วินาที
- เมื่อครบเวลา บ้วนน้ำยาบ้วนปากทิ้ง โดยไม่ต้องบ้วนน้ำเปล่าตาม เพราะน้ำเปล่าจะชะล้างตัวยาหรือส่วนผสม (เช่น ฟลูออไรด์) ออก ทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากน้ำยาบ้วนปาก
- เพื่อประโยชน์สูงสุด อย่าดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารหลังใช้น้ำยาบ้วนปาก 30 นาที
ส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปาก
ในน้ำยาบ้วนปากแต่ละชนิดมีส่วนผสมที่แตกต่างกันไปตามจุดประสงค์การใช้งาน ส่วนผสมบางอย่างช่วยให้ฟันขาว, ดับกลิ่นปาก, ยับยั้งแบคทีเรีย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วส่วนผสมที่มักพบบ่อยได้แก่:
- ฟลูออไรด์ (Fluoride): ช่วยป้องกันฟันผุและเสริมความแข็งแรงให้กับชั้นเคลือบฟัน
- สารต้านจุลชีพ (Antimicrobial Agents) เช่น คลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) และเซทิลไพริดิเนียมคลอไรด์ (Cetylpyridinium Chloride): ช่วยลดปริมาณแบคทีเรีย ลดการสะสมของคราบพลัค และป้องกันโรคเหงือกอักเสบเบื้องต้นได้
- แอลกอฮอล์ (Alcohol): ทำหน้าที่เป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันโรคเหงือกอักเสบในช่องปาก แต่อาจทำให้มีอาการแสบร้อนในช่องปากได้
- สารลดกลิ่นปาก (Odor Neutralizers) เช่น ซิงค์คลอไรด์ (Zinc Chloride): ช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide): ช่วยลดคราบและแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยให้ฟันขาวขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ควรใช้บ่อยเพราะจะทำให้ระคายเคืองช่องปาก
- ซอร์บิทอลและกลีเซอรอล (Sorbitol and Glycerol): ทำหน้าที่เป็นสารให้ความชุ่มชื้น ช่วยให้ปากไม่แห้ง
- รสชาติและกลิ่นหอม (Flavoring Agents): เพิ่มความน่าใช้และให้ความรู้สึกสดชื่นหลังการบ้วนปาก
- สารลดแรงตึงผิว (Surfactants): ช่วยให้เกิดฟอง โดยลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้น้ำยาบ้วนปากกระจายตัวได้ทั่วปาก
อ้างอิง https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8997378/
น้ำยาบ้วนปาก ใช้ตอนไหน
ใช้หลังแปรงฟันเสร็จ คือ ตอนเช้าและก่อนนอน หรือหากอยากให้ลมหายใจหอมสดชื่น ก็สามารถใช้ระหว่างวันได้เช่นกัน
น้ำยาบ้วนปาก มีประโยชน์อย่างไร
- ลดจำนวนแบคทีเรียในช่องปากทั้งบนฟันและบนลิ้น
- ลดปัญหากลิ่นปาก
- ลดโอกาสการเกิดฟันผุหรือเหงือกอักเสบ
คำถามพบบ่อย
1. ใช้น้ำยาบ้วนปากแทนการแปรงฟันได้ไหม
ไม่ได้ การใช้น้ำยาบ้วนปากอย่างเดียวไม่สามารถทดแทนการทำความสะอาดฟันด้วยแปรงสีฟันและไหมขัดฟันได้
2. น้ำยาบ้วนปากช่วยดับกลิ่นปากได้หรือไม่
ได้แค่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง และเป็นเพียงการกลบกลิ่นปากเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิ์น้ำยาบ้วนปาก ก็จะกลับมามีกลิ่นปากเหมือนเดิม
3. เผลอกลืนน้ำยาบ้วนปากเข้าไปจะเป็นอะไรไหม
หากกลืนเข้าไปไม่เยอะ ก็ไม่มีอันตราย แต่หากตั้งใจกลืนเข้าไปมากๆ จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้ และในเด็กเล็กไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากเพราะน้ำยาบ้วนปากหลายชนิดมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และในเด็กเล็กหากรับฟลูออไรด์มากไปจะทำให้เกิดฟันตกกระ
4. อายุเท่าไหร่ถึงควรใช้น้ำยาบ้วนปาก
ควรมีอายุ 6 ปีขึ้นไป (บางชนิดจะเขียนระบุอายุมากกว่านี้ เช่น 12 ปีขึ้นไป) เพราะหากมีอายุน้อยกว่านี้และเผลอกลืนน้ำยาบ้วนปากอาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว จนถึงขั้นหมดสติได้
5. น้ำยาบ้วนปากแสบมาก อมไว้นานๆ จะสะอาดขึ้นหรือไม่
อมน้ำยาบ้วนปากไว้แค่ 30-60 วินาทีก็เพียงพอ การอมนานกว่านี้ไม่ได้ช่วยอะไรเพิ่มเติม นอกจากนั้นอาการแสบปากที่เกิดขึ้นคือน้ำยาบ้วนปากมีแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจระคายเคืองต่อเยื่อบุในช่องปาก หรือเกิดแผนในช่องปากได้ แนะนำให้เลือกน้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
6. น้ำยาบ้วนปากรักษาโรคในช่องปากได้หรือไม่
ขึ้นกับชนิดของน้ำยาบ้วนปาก หากเป็นชนิดที่มีส่วนผสมที่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์ได้ ก็จะสามารถรักษาโรคในช่องปาก รวมถึงป้องกันโรคเหงือกอักเสบระยะเริ่มต้นได้ด้วย
7. ใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกันนานๆ เป็นอันตรายหรือไม่
การใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้สมดุลของแบคทีเรียดีในช่องปากตายไปด้วย และจะเกิดเชื้อราในช่องปากตามมา นอกจากนั้นยังอาจทำให้ตุ่มรับรสของลิ้นเพี้ยนไป รวมถึงทำให้คราบสีฟัน และวัสดุอุดฟันเปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดการหลุดลอกของเนื้อเยื่อในช่องปาก