เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) คือ อุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ทำขึ้นเพื่อช่วยในการรักษาและป้องกันปัญหาการกัดหรือการสบฟันที่ผิดปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีการนอนกัดฟัน (bruxism) หรือมีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joint disorder, TMJ) เฝือกสบฟันมักทำจากพลาสติกหรืออะคริลิกและปรับรูปร่างให้เข้ากับของฟันผู้ป่วย เฝือกสบฟันจะช่วยลดแรงกัดที่ฟันและข้อต่อขากรรไกร ป้องกันการสึกกร่อนของฟัน และช่วยให้กล้ามเนื้อขากรรไกรได้ผ่อนคลาย ทำให้ช่วยให้หายจากอาการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น เหมาะกับผู้ที่นอนกัดฟัน ผู้ที่ฟันสบกันไม่สม่ำเสมอ ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดข้อต่อขากรรไกรบ่อย นอกจากนี้ยังสามารถลดอาการเจ็บปวดและเสียงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของขากรรไกรได้อีกด้วย เฝือกสบฟันจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสุขภาพช่องปากและขากรรไกรให้ดีขึ้น
ประเภทของเฝือกสบฟัน
ประเภทของเฝือกสบฟันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 อย่างคือ เฝือกสบฟันแบบอ่อนและแบบแข็ง โดยจะมีคุณสมบัติและวัสดุที่ใช้แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองการรักษาของคนไข้ที่แตกต่างกัน
เฝือกสบฟันชนิดอ่อน (Soft Splint)
เฝือกสบฟันแบบอ่อนมักทำจากซิลิโคนหรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) จึงมีความนิ่ม น้ำหนักเบาและใส่สบาย เฝือกสบฟันชนิดนี้สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือไม่ทนทาน อายุการใช้งานสั้น จึงเหมาะกับใช้ชั่วคราวระหว่างรอเฝือกสบฟันชนิดแข็ง หรือใช้สำหรับผู้ป่วยที่อายุยังน้อย ขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หรือ ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดมากไปก่อน นอกจากนี้ยังใช้ในการป้องฟันสัมผัสกับคลอรีนเวลาว่ายน้ำอีกด้วย
เฝือกสบฟันชนิดแข็ง (Hard Splint)
เฝือกสบฟันแบบแข็งมักผลิตจากวัสดุอะคริลิกหรือวัสดุเทอร์โมพลาสติกที่มีความแข็งแรงทนทานสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีอาการนอนกัดฟันรุนแรง หรือมีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร เช่น ข้อต่อขากรรไกรเสื่อม หรือมีอาการติดขัดเวลาอ้าปากหุบปาก ทันตแพทย์สามารถกรอแต่งเฝือกชนิดนี้เพื่อช่วยกระจายแรงสบฟันให้เหมาะสม และช่วยพยุงข้อต่อขากรรไกรได้ดี อย่างไรก็ตาม เฝือกชนิดแข็งใช้เวลาในการทำนานกว่าชนิดอ่อน และไม่เหมาะกับเด็กที่ฟันและขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เนื่องจากอาจขัดขวางการเจริญเติบโตได้
ขั้นตอนการทำเฝือกสบฟัน
- ตรวจประเมินระบบบดเคี้ยว โดยตรวจทั้งกล้ามเนื้อ และข้อต่อขากรรไกร โดยคลำหาจุดที่จับแล้วเจ็บบนกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ดูระยะการอ้าปากและแนวการอ้าปาก รวมถึงคลำหาเสียงที่ข้อต่อขากรรไกร
- ตรวจการสบฟัน เพื่อดูว่ามีการสบฟันที่ผิดปกติร่วมด้วยหรือไม่
- บันทึกตำแหน่งขากรรไกรที่เหมาะสม ด้วยขี้ผึ้ง เพื่อใช้สำหรับทำเฝือกสบฟัน
- พิมพ์ฟัน เพื่อนำรอยพิมพ์ที่ได้ไปเทเป็นแบบจำลองฟันและสร้างเป็นเฝือกสบฟันต่อไป
เฝือกสบฟันเหมาะกับใครบ้าง
เฝือกสบฟันเหมาะกับผู้ที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อบดเคี้ยว และข้อต่อขากรรไกรบางประเภท เช่น
- มีนิสัยนอนกัดฟัน หรือขบเน้นฟันในเวลากลางวัน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวใช้งานมากกว่าปกติซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรได้
- มีเสียงคลิกที่หน้าหู หรือติดขัดเวลาอ้าปาก หุบปาก
- มีภาวะข้อต่อขากรรไกรเสื่อม
ข้อแนะนำในการใช้และดูแลเฝือกสบฟัน
- ใส่เฝือกสบฟันเฉพาะตอนกลางคืน หรือตอนที่ทันตแพทย์กำหนด
- จะรู้สึกตึงหลังจากใส่เฝือกสบฟัน 2-3 นาที แต่หากมีอาการเจ็บฟันจากการใส่เฝือกสบฟัน ให้นำเฝือกสบฟันนั้นมาพบทันตแพทย์ เพื่อปรับและแก้ไข
- ขณะใส่เฝือกสบฟัน อาจมีน้ำลายไหลออกมามากกว่าปกติ ในช่วงแรกๆ แต่เมื่อปรับตัวได้แล้วจะดีขึ้นเอง
- ทำความสะอาดเฝือกสบฟัน โดยใช้แปรงสีฟันและยาสีฟัน แปรงทั้งด้านนอกและด้านในเฝือกสบฟัน หลังจากนั้นแช่ในน้ำสะอาด ปิดฝา และเปลี่ยนน้ำทุกวัน
- หากมีบริเวณที่แปรงทำความสะอาดไม่ถึง ให้แช่เฝือกสบฟันลงในน้ำสะอาด 1 แก้ว พร้อมใช้เม็ดฟู่ 1 เม็ด หย่อนลงไปและรอ 3-5 นาที หลังจากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า ขัดด้วยแปรงขนนุ่มเบาๆ