การทำรากฟันเทียมได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้แทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการรักษาที่ได้ผลดี แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการอักเสบของรากฟันเทียมได้หากดูแลรักษาไม่ถูกต้อง ในบทความนี้จะอธิบายการอักเสบของรากฟันเทียมว่าคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร รวมถึงวิธีการรักษาและป้องกันด้วย
การอักเสบของรากฟันเทียมคืออะไร
การอักเสบของรากฟันเทียม คือ ภาวะที่กระดูกและเหงือกรอบรากฟันเทียมอ่อนแอ เกิดการอักเสบของเหงือกและการละลายตัวของกระดูก หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้รากฟันเทียมหลวมและหลุดได้
สาเหตุของการอักเสบของรากฟันเทียม
รากฟันเทียมสามารถเกิดการอักเสบได้จากหลายสาเหตุดังนี้:
ดูแลทำความสะอาดไม่ดีทำให้มีแบคทีเรียสะสม: การดูแลรักษาช่องปากไม่ดีเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของรากฟันเทียมอักเสบ แบคทีเรียจะเข้าสู่รอบๆ รากฟันเทียมตรงบริเวณที่เป็นแผลจากการทำรากฟันเทียม การอักเสบนี้มักเกิดจากการดูแลรักษาทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ เช่น แปรงฟันไม่สะอาด ไม่ใช้ไหมขัดฟัน มีโรคเหงือกที่ไม่ได้รับการรักษาก่อนทำรากฟันเทียม เป็นต้น
สูบบุหรี่จัด: การสูบบุหรี่จัดทำให้นิโคตินและสารอื่นๆ ในบุหรี่เข้าสู่ร่างกายและทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อรอบรากฟันน้อยลง ทำให้การรักษาซ่อมแซมบริเวณที่ทำรากเทียมยากขึ้น นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ยังกดการทำงานของภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ยากขึ้นด้วย
โรคประจำตัวเช่นเบาหวาน: คนที่เป็นโรคเบาหวานมักมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ยากขึ้น หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงก็จะไปชะลอกระบวนการการหายของแผลด้วย
กระดูกขากรรไกรละลาย: หากกระดูกขากรรไกรละลาย รากฟันเทียมก็จะเคลื่อนไหวได้และมีความไม่มั่นคง เมื่อมีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ เนื้อเยื่อรอบๆ รากฟันเทียมก็จะระคายเคืองและอักเสบได้ รวมถึงจะมีช่องว่างระหว่างรากฟันเทียมกับกระดูกซึ่งทำให้แบคทีเรียเข้าไปสะสมได้ง่ายด้วย
ตำแหน่งของรากเทียมและรูปแบบแรงในการบดเคี้ยวไม่เหมาะสม: หากรากฟันเทียมรับแรงกัดมากเกินไปไม่ว่าจะเกิดจากการเคี้ยวหรือใช้งานหนักเกินไปหรือเกิดจากการใส่รากฟันเทียมไม่ดี เช่น วางในมุมหรือตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมทำให้การกระจายแรงกัดไม่ดี ก็สามารถทำให้กระดูกในบริเวณดังกล่าวละลายได้และไปกระตุ้นการอักเสบของรากฟันเทียมเช่นกัน
กระดูกรอบรากฟันเทียมหนาไม่พอ: – เป็นไปได้ว่าทันตแพทย์ไม่ได้ทำการปลูกกระดูกให้หรือประเมินผิดว่ากระดูกนั้นเพียงพอแล้ว เพราะหากบริเวณที่จะทำการฝังรากฟันเทียมมีปริมาณกระดูกไม่พอ จะต้องทำการปลูกกระดูกก่อน
อาการของการอักเสบในรากฟันเทียม
โดยทั่วไปอาการรากฟันเทียมอักเสบมักเกิดในช่วงต้นของการรักษา 1-3 เดือนหลังการใส่รากฟันเทียม หรือหลังจากใส่ครอบฟันไปแล้วก็ได้ อาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- ปวด บวม แดง บริเวณรากฟันเทียม: เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน
- มีหนองไหลออกจากรากฟันเทียม: หากมีหนองไหลเป็นของเหลวสีขาวเหลือง แสดงว่าติดเชื้อ
- รากฟันเทียมโยก: เกิดจากกระดูกขากรรไกรละลายจากการติดเชื้อหรือกระดูกผสานกับรากเทียมไม่ดี
ตัวอย่างคลิปการอักเสบของรากฟันเทียม:
วิธีป้องกันไม่ให้รากฟันเทียมอักเสบ
- เลือกทำรากฟันเทียมกับทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง เช่น ที่ MOS Dental Clinic เพราะเรามีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี และเรายังคงดูแลคนไข้คนแรกที่ทำรากฟันเทียมซี่แรกกับเราตลอดมา
- ทำความสะอาดฟันและช่องปากให้ดี แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 2 นาที เลือกแปรงสีฟันที่มีขนนุ่มใช้กับยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ อย่าแปรงแรงเกินไป ใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยเป็นประจำเพราะการแปรงฟันไม่สามารถแปรงเข้าไประหว่างซอกฟันที่ชิดกันมากๆ ได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็งหรือเหนียวมากๆ เช่น น้ำแข็ง ถั่วแข็ง หมากฝรั่ง กะละแม ข้าวเหนียว เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันปลอม แตก หัก หรือกระดูกเบ้าฟันละลายจากแรงกัดเคี้ยวที่สูงเกินไป
- เข้าพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสอบสภาพรากฟันเทียม หากมีปัญหาจะได้เจอตั้งแต่เนิ่นๆ
- งดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเหงือก นำไปสู่รากฟันเทียมอักเสบได้
- ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ เช่น หากเป็นโรคเบาหวานก็ควรคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ